ช่วงก่อนมีประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง ทำให้สาวๆ หลายคนรู้สึกอ่อนแอ ป่วยง่าย หน้าโทรม ร่างกายอ่อนเพลีย จากนั้นไม่นานฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้น ก่อนจะลดลงอีกครั้งในช่วงไข่ตก หลังจากนั้นทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระดับปกติ ยิ่งในช่วง 2-3 วันก่อนมีประจำเดือน สาวๆ อาจมีอาการหิวบ่อย เต้านมคัด ก็เนื่องมาจากระดับฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้ลดต่ำลงเช่นกัน การขึ้นๆ ลงๆ ของฮอร์โมนเพศหญิงก่อนมีประจำเดือนนี้ จะเกิดขึ้นเป็นปกติ ตั้งแต่ที่ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน แต่ถ้าสาวๆ เป็นโรคซึมเศร้า ฮอร์โมนในร่างกายก็จะทำงานผิดปกติ เช่น ระดับเอสโตรเจนต่ำตลอดเวลา ทำให้ประจำเดือนไม่ปกติ ประจำเดือนมาบ้างไม่มาบ้าง หรือสาวๆ บางคนอาจประจำเดือนไม่มาเลย
โรคซึมเศร้าหรือแค่อาการ PMS
อาการ PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนของผู้หญิง ส่งผลให้มีอาการทางด้านร่างกาย เช่น ปวดขา ปวดหลัง เจ็บคัดเต้านม อยากกินของหวาน และอาการทางด้านจิตใจ เช่น หงุดหงิด เครียด กังวลใจ อารมณ์อ่อนไหว จนทำให้ร้องไห้กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึ่งอาการ PMS เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงส่วนใหญ่ สาวๆ จึงคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่หลายคนก็อาจสับสนระหว่างอาการ PMS กับอาการของโรคซึมเศร้า
วิธีตรวจสอบง่ายๆ คือ ลองสังเกตตัวเองว่า อาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนมีประจำเดือนหรือเปล่า ถ้าใช่แสดงว่าสาวๆ อาจไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่เป็นภาวะซึมเศร้าที่เกิดจาก PMS หรือถ้าใครอยากตรวจสอบว่าตัวเองเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ก็ลองสังเกตตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
- รู้สึกเศร้า กังวลใจ ไม่มีความสุข หรือรู้สึกว่างเปล่า เป็นเวลาหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
- รู้สึกหมดความสนใจหรือไม่รู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมใดๆ ในชีวิต
- มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไร้ค่า รู้สึกหมดหวัง รู้สึกผิด
- การนอนหลับมีปัญหา เช่น นอนมากเกินไป นอนน้อยเกินไป หรือตื่นเร็วเกินไปในตอนเช้า
- การกินผิดปกติ เช่น เบื่ออาหาร ไม่อยากกินอะไร หรือกินเยอะเกินไป จนหยุดกินไม่ได้
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ
- คิดเรื่องการฆ่าตัวตาย
หากสาวๆ มีอาการเหล่านี้ หมายความว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษากับนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ และเพื่อหาวิธีรักษาต่อไป
ออกกำลังกาย ช่วยให้หายเศร้า
เพียงแค่สาวๆ ออกกำลังกายง่ายๆ เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิค ปั่นจักรยาน วันละ 30 นาที ให้เหงื่อออก ก็สามารถทำให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการซึมเศร้าจาก PMS หรือจากโรคซึมเศร้า แถมประโยชน์ของการออกกำลังกายยังไม่ได้มีแค่นี้ การออกกำลังกายยังสามารถช่วยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานดีขึ้น ส่งผลให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติด้วย
ประจำเดือนไม่ปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือโรคซึมเศร้า ที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานผิดปกติจนส่งผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติไปด้วย แต่สาวๆ ต้องสังเกตตัวเองให้ดี อย่าสับสนระหว่างการเป็นโรคซึมเศร้า กับอารมณ์ซึมเศร้าที่เกิดจาก PMS แต่ไม่ว่าจะซึมเศร้าจากเหตุผลใด ถ้าส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถไปทำงานหรือไปเรียนได้ หรืออยากทำร้ายตัวเอง อยากฆ่าตัวตาย ควรรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือรีบปรึกษาจิตแพทย์ทันที