เพลงนั้นมีหลายแนวด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคลาสสิก ป็อป ร็อค หรือแม้แต่อะคูสติก ซึ่งแนวการฟังนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล แต่คุณรู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของเสียงเพลงนอกจากจะให้ความเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย เสียงเพลงยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย ประโยชน์ของเสียงเพลงที่มีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง วันนี้ Hello คุณหมอ มีเรื่องนี้มาฝากกัน
ประโยชน์ของเสียงเพลงที่มีต่อสุขภาพ มีอะไรบ้าง
จากการวิจับเมื่อไม่นานมากนี้แสดงให้เห็นว่า การฟังเพลงช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีของจิตใจและช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีอย่างน่าประหลาดใจ การเรียนวิชาดนตรีหรือฝึกดนตรี สามารถช่วยยกระดับสติปัญญาและยังทำให้ฉลาดได้อีกด้วย และนี่คือ ประโยชน์ของเสียงดนตรีที่มีต่อสุขภาพ
ทำให้มีความสุข
จากงานวิจัยได้พิสูจน์ว่า เมื่อคุณฟังเพลงที่ชอบ สมองจะปล่อยสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกดี Valorie Salimpoor นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย McGill ได้ฉีดสารกัมมันตรังสีที่จับกับตัวรับโดพามีนให้กับคนที่ชอบฟังเพลงจำนวน 8 คน หลังจากนั้นก็ให้พวกเขาได้ฟังเพลงโปรด จากการสแกนด้วยเครื่องเพ็ท (PET) แสดงให้เห็นว่า โดพามีนจำนวนมากถูกปล่อยออกมา ทำให้ผู้เข้าร่วมงายวิจัยทางชีวภาพ รู้สึกถึงอารมณ์ เช่น ความสุข และความตื่นเต้น ดังนั้นถ้าอยากอารมณ์ดีขึ้น แนะนำว่าให้ฟังเพลงโปรดเป็นเวลา 15 นาที
ทำให้รู้สึกสงบ
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Ohio State การฟังเพลงโปรดสามารถลดความวิตกกังวลในผู้ป่วยไอซียูประมาณ 1 ใน 3 นอกจากนั้นการฟังเพลงยังช่วยทำให้นอนหลับสนิทอีกด้วย
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง
Dr. Marcelo Bigliassi และเพื่อนร่วมงานของเขา พบว่า นักวิ่งที่ฟังเพลงเร็วหรือช้าเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ สามารถวิ่งได้สำเร็จในระยะ 800 เมตรแรก ซึ่งเร็วกว่านักวิ่งที่ไม่ได้ฟังเพลง ดังนั้น ถ้าคุณต้องการจะวิ่งให้สำเร็จลองฟังเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคุณดู
อารมณ์ของเพลงทำให้กินน้อยลง
ตามการศึกษาของ Cornell ในวารสาร Psychological Reports พบว่าในร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งมีการตกแต่งร้านใหม่ ใช้แสงที่นุ่มนวล รวมถึงเปิดดนตรีแจ๊ส ผู้ที่ไปกินอาหารในร้านกินน้อยลงประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเพลิดเพลินกับอาหารที่พวกเขากินมากขึ้นอีกด้วย
นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดีขึ้น
แพทย์ที่ Johns Hopkins แนะนำให้ฟังเพลงเพื่อกระตุ้นสมอง นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังเห็นการมีส่วนร่วมของสมองเมื่อได้รับการฟังเพลงจากการใช้เครื่องสแกน MRI จากการศึกษาหนึ่งในปี 2019 พบว่า ผู้คนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้มากขึ้น เมื่อพวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับการฟังเพลงเป็นรางวัล แต่การฟังเพลงสำหรับนักเรียนบางคนอาจจะต้องงดการใช้หูฟัง เนื่องจากทาง Researchers Trusted Source ผู้ทดสอบนักเรียนที่มีความจำสั้น พบว่า การฟังเพลงโดยเฉพาะเพลงที่มีเนื้อร้อง บางครั้งอาจมีผลเสียต่อการเรียนรู้
สามารถปรับปรุงหน่วยความจำ
เพลงมีผลในเชิงบวกต่อความสามารถในการจดจำ จากแหล่งข้อมูลการศึกษาที่เชื่อถือได้แห่งหนึ่ง นักวิจัยลองให้ผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยอ่านและจำรายการคำศัพท์สั้นๆ ผลที่ได้คือ ผู้ที่ฟัง เพลงคลาสสิค มีประสิทธิภาพความจำเหนือกว่าผู้ที่ไม่ได้ฟังเพลงอะไรเลย
จากการศึกษาเดียวกันยังได้มีการติดตามผลต่ออีกว่า ผู้ที่เข้าร่วมการวิจัยนั้นสามารถประมวลผลอย่างง่ายได้รวดเร็วแค่ไหน ในการจับคู่ตัวเลขกับรูปทรงเลขาคณิต ซึ่งผลที่ได้ก็คือผู้ที่ฟังเพลงของ โมสาร์ท (Mozart) ทำงานเสร็จเร็วขึ้นและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
หน่วยความจำเพลงเป็นหนึ่งในการทำงานของสมองที่ทนต่อสภาวะสมองเสื่อม (Dementia) มากที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมผู้ดูแลบางคนจึงประสบความสำเร็จในการใช้ดนตรีเพื่อทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อม มีอาการสมองเสื่อมช้าลง ทั้งยังทำให้ผู้ดูแลสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่น่าไว้วางใจกับผู้ป่วยสมองเสื่อมได้อีกด้วย
ลดความเครียดและปรับปรุงสุขภาพ
การฟังเพลงจะทำให้คุณรู้สึกเพลิดเพลินจนทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดลดลง ทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากความเครียดเรื้อรังอีกด้วย จากการศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เล่นดนตรีและร้องเพลงจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขาได้รับการกระตุ้นมากกว่าคนที่ฟังเพลงเพียงอย่างเดียว ถ้าต้องการสงบสติอารมณ์และมีสุขภาพที่ดีในวันที่รู้สึกเครียด ลองเปิดวิทยุฟังเพลง ร้องตาม และเคาะเท้าไปตามจังหวะ เพื่อที่จะได้รับความเพลิดเพลินและประโยชน์จากการฟังเพลงดู
ทำให้การนอนหลับดีขึ้น
ชาวอเมริกันกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ต้องทนทุกข์กับการนอนไม่หลับ การศึกษาแสดงให้เห็นว่า นักเรียนที่ฟัง เพลงคลาสสิค เพื่อผ่อนคลายเป็นเวลา 45 นาที ทำให้พวกเขาหลับได้ดีขึ้นอย่างนัยยะสำคัญ ซึ่งการนอนหลับของพวกเขาดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากกิจวัตรประจำวันเลย ถ้าคุณกำลังมีปัญหาในเรื่องของการนอนลองหาเพลงของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) หรือ โมสาร์ท (Mozart) มาเปิดฟังก่อนอน เพื่อจะได้ทำให้หลับได้ดีขึ้น
ช่วยรักษาความเจ็บป่วยทางจิต
นักประสาทวิทยาพบว่า การฟังเพลงเป็นต้นเหตุของการปล่อยสารเคมีหลายอย่างที่มีบทบาทในการทำงานของสมองและสุขภาพจิต ซึ่งได้แก่
- โดพามีน หรือ โดปามีน (Dopamin) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เกี่ยวของกับความสุข
- ฮอร์โมนความเครียด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol)
- เซโรโทนิน (Serotonin) และฮอร์โมนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน
- ออกซิโทซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนที่ส่งเสริมความสามารถในการติดต่อกับผู้อื่น
แม้การวิจัยจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำให้เข้าใจอย่างแน่ชัดว่า ดนตรีสามารถนำมาใช้ในการบำบัดเพื่อรักษาอาการป่วยทางจิตได้อย่างไร แต่จากแหล่งการศึกษาบางส่วนแนะนำว่า ดนตรีบำบัด สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตและการเชื่อมโยงทางสังคมสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทได้
บรรเทาและผ่อนคลายหลอดเลือด
การฟังเพลงที่นำความสุขมาให้นั้นสามารถทำให้หลอดเลือดขยายตัวเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ ทั้งยังปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดด้วย จากการศึกษาหนึ่งพบว่า เส้นผ่าศูนย์กลางหลอดเลือดต้นแขนของผู้ที่เข้าร่วมการศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 หลังจากที่ได้ฟังเพลงที่สนุกสนาน
นอกจากนั้นจากการศึกษาอีกหนึ่งชิ้นที่ได้ศึกษากับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจเกือบ 1,400 คน พบว่า ดนตรีช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความดันโลหิต และความวิตกกังวล นอกจากนั้นการฟังเพลงยังสามารถช่วยให้คุณดูอ่อนกว่าวัยได้อีกด้วย
ร้องเพลงกลุ่มทำให้มีความสุข
เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยชาวอังกฤษได้ทำการสำรวจจากคน 375 คนที่ร้องเพลงประสานเสียง ร้องเพลงคนเดียว หรือเล่นกีฬาเป็นทีม กิจกรรมทั้งหมดมีส่วนช่วยให้ความรู้สึกทางอารมณ์ดีขึ้น แต่จากการวิจัยพบว่าผู้คนในคณะร้องเพลงประสานเสียงรู้สึกมีความสุขมากกว่าผู้ที่ร้องเพลงคนเดียว
ช่วยเรื่องของสุขภาพหัวใจ
ดนตรีสามารถทำให้คุณอยากเคลื่อนไหว และประโยชน์ของการเต้นก็มีการบันทึกเอาไว้ด้วยว่า การฟังเพลงสามารถเปลี่ยนอัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและจังหวะของเพลงด้วย
ลดความเหนื่อยล้า
ในปีค.ศ. 2015 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้พบว่า เพลงที่ผ่อนคลายช่วยลดความเหนื่อยล้าและรักษาความอดทนของกล้ามเนื้อได้ นอกจากนั้นการบำบัดด้วยดนตรียังช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ที่ได้รับการรักษามะเร็ง และช่วยลดความเหนื่อยล้าสำหรับผู้ที่ต้องฝึกด้านประสาทและกล้ามเนื้อด้วย
ช่วยให้ผู้ป่วยผ่อนคลายทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
นักวิจับพบว่า การฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายก่อนผ่าตัดสามารถช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยได้ ซึ่งในความเป็นจริงมันมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ยามิดาโซแลม (Midazolam) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วง โดยยานี้มีผลข้างเคียง เช่น การไอและอาเจียน
จากการศึกษาอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า การฟังเพลงที่ผ่อนคลายขณะนอนอยู่บนเตียงหลังได้รับการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย ซึ่งทั่วโลกมีการผ่าตัดใหญ่ถึง 234 ล้านครั้งในแต่ละปี นอกจากนั้นการฟังเพลงหลังผ่าตัดยังจะช่วยลดอาการปวดได้ การวิเคราะห์งานวิจัย 73 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อปีค.ศ. 2015 ยืนยันว่า การฟังเพลงก่อนผ่าตัด ระหว่างผ่าตัด หรือหลังผ่าตัด มีผลต่อระดับความวิตกกังวลและความเจ็บปวด
ดังนั้น หากคุณหรือคนที่คุณรู้จักกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด อย่าลืมนำเพลงที่ผ่อนคลายไปเปิดฟัง เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล ซึ่งมันอาจทำงานได้ดีและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาที่ผู้เชี่ยวชาญจ่ายให้
แน่นอนว่าเพลงนั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อมนุษย์ ทั้งยังสามารถเพิ่มหน่วยความจำ สร้างความอดทน เบาอารมณ์ ลดความวิตกกังวล ลดภาวะซึมเศร้า ลดความเหนื่อยล้า ปรับปรุงการตอบสนองต่อความเจ็บปวด และช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวได้ว่าว่า การฟังเพลงนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสุขภาพโดยรวมเป็นอย่างมากเลยทีเดียว