backup og meta

ก่อนจะริรักใคร อย่าลืม รักตัวเอง ให้เป็นเสียก่อน

ก่อนจะริรักใคร อย่าลืม รักตัวเอง ให้เป็นเสียก่อน

“ก่อนจะรักใคร อย่าลืมรักตัวเองให้เป็นเสียก่อน’ เป็นคำกล่าวที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาไม่น้อย ความรักนั้นมีอยู่มากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อคนรัก ความรักที่มีต่อครอบครัว ความรักที่มีต่อเพื่อน ตลอดไปจนถึงความรักที่มีต่อตนเอง แต่การ รักตัวเอง นั้นเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการมีสุขภาพจิตที่ดี และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข บทความนี้จะมาแนะนำเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้คุณฝึกรักตัวเองให้เป็น

รักตัวเอง (Self-Love) เป็นอย่างไร

หลายคนอาจจะคิดว่าการรักตัวเองหมายถึงการเอาแต่ใจตนเอง เห็นแก่ตัว แล้วทำอะไรโดยไม่สนใจความต้องการของคนอื่น แต่จริงๆ แล้ว การรักตัวเอง คือการรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อตนเอง เป็นการทำความเข้าใจ และยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถมีความยืดหยุ่นต่อการเผชิญหน้ากับความผิดพลาด ความผิดหวัง เรื่องน่าอับอาย ความล้มเหลว และสามารถรับมือและฟื้นตัวเองขึ้นมาจากความล้มเหลวเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างของ การรักตัวเอง มีดังต่อไปนี้

  • การใจดีต่อตนเอง รู้จักยอมรับตนเอง เคารพตนเอง ให้อภัยตัวเอง และไม่กดดันตนเองมากจนเกินไป
  • รับรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์ ตระหนักว่าโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าใครก็สามารถทำความผิดพลาดได้ และเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น
  • มีสติ ใจเย็น รู้จักใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ มีความฉลาดทางอารมณ์ และหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำด้วยอารมณ์อันแสนเจ็บปวด

ความสำคัญของการรักตัวเอง

การรักตัวเอง ช่วยให้เรารู้จักการรักคนอื่นเป็น หากเราไม่สามารถเข้าใจถึง คอนเซ็ปต์ของการรักตัวเอง เราก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายในการรักคนอื่นได้ การรักตัวเองนั้นจะเริ่มจากการหันมาให้ความสำคัญกับตัวเองและใส่ใจความรู้สึกของตัวเอง และเมื่อเรารู้สึกการให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นแล้ว เราก็จะสามารถหันไปให้ความสำคัญกับผู้อื่นได้เช่นกัน

ผู้ที่ไม่รู้จักการรักตัวเอง อาจจะไม่ให้ความสำคัญกับตัวเอง และกดดันตัวเองมากจนเกินไป จนสุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตได้ ในสภาพสังคมที่ผู้คนต่างก็พยายามแข่งขันชิงดีชิงเด่น เรามักจะต้องพยายามมากยิ่งขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพื่อให้ตรงกับความคาดหวังของครอบครัวและสังคม ยิ่งโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราสามารถมองเห็นความสำเร็จของผู้อื่นได้ง่ายๆ เพียงแค่เข้าโลกโซเชียล เมื่อเกิดการเปรียบเทียบ เราก็จะยิ่งพยายามกดดันตัวเองมากยิ่งขึ้น จนถึงอาจที่จะต้องยอมทำร้ายตัวเอง อดนอน ทำงานหนัก จนเสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

เทคนิคในการฝึกให้รู้จักรักตัวเอง

ตระหนักว่าทุกคนล้วนมีความแตกต่าง

คนบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่ก็มีความแตกต่างกัน ไม่มีใครที่จะสามารถเหมือนใครได้ แม้แต่ฝาแฝดก็ยังมีส่วนที่แตกต่างกัน สิ่งที่ผู้อื่นสามารถทำได้ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องทำได้เช่นกัน และคุณเองก็มีสิ่งที่มีแค่เฉพาะคุณเท่านั้นที่สามารถทำได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรกดดันตัวเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างผู้อื่น

จำไว้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

ไม่ว่าจะเป็นคนที่เก่งกาจมากแค่ไหน ต่างก็มีโอกาสทำพลาดกันได้ทั้งนั้น ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ อย่านำตัวเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น และอย่าโทษตัวเองที่ทำผิดพลาดมากจนเกินไป คุณยังมีโอกาสแก้ไขเสมอ

ให้กำลังใจตัวเอง

ลองฝึกพูดสิ่งดีๆ เพื่อให้กำลังใจตัวเอง เช่น ชมตัวเองเวลาที่เรื่องอะไรสำเร็จ ฝึกชมตัวเองในทุกเช้า และมองหาข้อดีของตัวเอง การทำแบบนี้จะเป็นการเสริมสร้างความคิดในแง่บวก และทำให้เรามองเห็นด้านดีๆ ของตัวเองที่เราอาจจะมองข้ามได้

ให้รางวัลตัวเองบ้าง

ลองให้รางวัลตัวเอง ด้วยการทำสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างเช่น การอ่านหนังสือเล่มโปรด การออกไปเที่ยว หรือหาอะไรอร่อยๆ กิน ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุข และปลดเปลื้องความกดกันที่ตัวเองเจอ

ขีดเส้นความสัมพันธ์

คุณไม่จำเป็นต้องคอยเอาใจคนอื่นหรือใส่ใจแต่ความรู้สึกของคนอื่นมากจนเกินไป หันมาใส่ใจตัวเองบ้าง และขีดเส้นความสัมพันธ์ที่ผู้อื่นไม่ควรข้าม เพื่อไม่ให้ผู้อื่นล้ำเส้นมาทำร้ายความรู้สึกของเราได้

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Importance of Self-Love https://www.psychologytoday.com/us/blog/understand-other-people/201901/the-importance-self-love. Accessed 5 January 2020

A Seven-Step Prescription for Self-Love. https://www.psychologytoday.com/us/blog/get-hardy/201203/seven-step-prescription-self-love. . Accessed 5 January 2020

Why self-love is important and how to cultivate it https://www.medicalnewstoday.com/articles/321309.php#1. Accessed 5 January 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง

อยากมีรักแต่ไม่อยากผูกพัน โรคกลัวการผูกมัด เมื่อหัวใจดวงนี้ไม่อยากเสียใจ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา