ผลงานศึกษาวิจัยเผยว่า ผู้ที่ยึดติดในความสมบูรณ์แบบมักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังชอบรับมือกับปัญหาด้วยวิธีที่เรียกว่า “การเผชิญปัญหาแบบหลีกเลี่ยง (Avoidant coping)” คือ มักจะไม่ค่อยหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เอาแต่หลบเลี่ยงจนถึงที่สุด โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมักทำให้เฉื่อยชา ยิ่งมาเจอกับการชอบหนีปัญหา ก็ยิ่งทำให้คุณขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไรเลย
ตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำได้จริง
หากเป้าหมายของคุณใหญ่หรือซับซ้อนเกินไป ก็อาจทำให้คุณรู้สึกว่าการไปสู่เป้าหมายนั้นเป็นเรื่องยาก จนสุดท้ายก็ถอดใจ ขี้เกียจจะลงมือทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ฉะนั้น วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้คุณเลิกขี้เกียจ อยากพิชิตเป้าหมายที่ตัวเองวางไว้ให้สำเร็จ ก็คือ การตั้งเป้าหมายให้เล็ก ๆ เข้าไว้ และต้องเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริงด้วย
การที่เราแนะนำให้คุณตั้งเป้าหมายให้เล็กเข้าไว้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณลืมเป้าหมายหลักที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง แต่ให้ลองย่อยเป้าหมายนั้นให้เล็กลง คุณจะได้ทำสำเร็จได้ง่ายขึ้น และมีกำลังใจในการพุ่งชนเป้าหมายต่อไป ไม่ขี้เกียจเหมือนเคย
เฉลิมฉลองให้ชัยชนะเล็ก ๆ
เมื่อคุณทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว แม้จะเป็นแค่เป้าหมายเล็ก ๆ ก็ควรเฉลิมฉลองให้ความสำเร็จนั้นด้วย การเฉลิมฉลองนี้เปรียบเสมือนการให้รางวัลตัวเองที่จะทำให้คุณมีกำลังใจ และเป็นแรงกระตุ้นให้คุณเลิกขี้เกียจ อยากลุกขึ้นมาทำเป้าหมายต่อ ๆ ไปให้สำเร็จ การเฉลิมฉลองที่ว่าไม่ได้หมายถึงการไปกินดื่มอย่างเดียวเท่านั้น คุณสามารถฉลองด้วยกิจกรรมที่คุณชอบได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการไปสังสรรค์กับเพื่อน การซื้อเครื่องสำอางชิ้นใหม่ เป็นต้น ตราบใดที่วิธีการเหล่านั้นไม่ส่งผลเสียกับตัวคุณเองและผู้อื่น
เลิกขี้เกียจ ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน
สิ่งรบกวนที่ทำให้คุณขี้เกียจและไม่อยากทำอะไรนั้นมีอยู่มากมาย เช่น การเล่นโซเชียลมีเดีย การเล่นเกม การเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือแม้แต่กิจกรรมที่ดีต่อสุขภาพอย่างการนอนหลับและการอ่านหนังสือ ก็กลายเป็นสิ่งรบกวนได้หากคุณทำผิดเวลา เช่น ดันรู้สึกอยากนอนหลับหรืออยากอ่านหนังสือในเวลาที่ต้องทำงานให้เสร็จ
ฉะนั้นหากคุณอยากเลิกขี้เกียจ ลุกขึ้นมาทำงานหรือธุระต่าง ๆ ให้สำเร็จ เราแนะนำให้คุณพาตัวออกห่างจากสิ่งรบกวนที่มักส่งผลกระทบกับคุณ เช่น หากคุณติดโซเชียลมีเดียมาก เวลาทำงานก็อาจจะวางโทรศัพท์มือถือไว้ให้ห่างมือ หรือปิดเครื่องไว้ก่อน หรืออาจนั่งทำงานในห้องว่าง ๆ หรือที่สงบ ๆ ก็ได้ จะได้มีสมาธิมากขึ้น