backup og meta

ถึงเวลา หยุดความกังวล ก่อนจะส่งผลต่อสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2020

    ถึงเวลา หยุดความกังวล ก่อนจะส่งผลต่อสุขภาพ

    ความกังวล เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ความกังวลเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเป็นครั้งคราวและเรื้อรัง ความกังวล เป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ร้อนใจ แต่ละคนก็จะมีเรื่องให้ต้องกังวลแตกต่างกันออกไป บางคนกังวลเรื่องงาน บางคนกังวลเรื่องเงิน บางคนก็กังวลเรื่องการใช้ชีวิต ความกังวลเป็นสิ่งที่เราคิด จินตนาการไปก่อนล่วงหน้า บางครั้งความกังวลก็ส่งผลต่อสุขภาพของเรา วันนี้ Hello คุณหมอ มีบทความน่าสนใจ เกี่ยวกับความกังวลส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรและจะ หยุดความกังวล ได้อย่างไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลยค่ะ

    เมื่อไรที่ต้อง หยุดความกังวล

    ความกังวลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ทุกคนจะต้องเจอไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ปัญหาครอบครัว การสัมภาษณ์งาน อยู่ที่ว่าจะกังวลมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีจัดการกับความกังวลของเรา

    ความกังวลถือเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องประสบ แต่อยู่ที่ว่าเรานั้นสามารถควบคุมมันได้หรือไม่ หากไม่สามารถควบคุมความกังวลของตนเองได้ ไม่สามารถลบความกังวลต่าง ๆ ออกจากสมองได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง นั่นหมายความว่า คุณกังวลมากไปจนต้องหยุดมันให้ได้แล้ว

    ความกังวลอย่างต่อเนื่อง จนไม่สามารถจัดการกับความคิดของตัวเองได้ คิดอะไรในแง่ลบไปหมด จินตนาการถึงแต่สิ่งที่เลวร้าย จนส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพร่างกายของตัวเองจนแย่ลง ความกังวลเหล่านี้จะเป็นพลังลบ ๆ ทำให้คุณรู้สึกกระสับกระส่าย หวาดกลัว จนอาจทำให้นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดท้อง กล้ามเนื้อเกิดความตึงตัว ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งคุณอาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการใช้สารเสพติด แอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นวิธีแก้ที่ผิด แถมยังทำให้ร่างกายของคุณแย่ลงอีกด้วย หากคุณยังไม่สามารถจัดการกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้มันอาจพัฒนาจนกลายไปเป็น โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) ได้

    ความกังวลส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

    ความกังวลและความเครียดทางอารมณ์นั้นสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้มากมาย ซึ่งความกังวลและความเครียดจะส่งผลต่อระบบประสาททำให้ร่างกายปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดออกมา ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะไปเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) ในเลือด นอกจากนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอีก เช่น

    • กลืนอาหารลำบาก
    • เวียนหัว
    • ปากแห้ง
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ปวดหัว
    • เมื่อยล้า
    • ไม่มีสมาธิ
    • เหงื่อออก
    • ตัวสั่น

    หากยังคงมีความวิตกกังวลต่อเนื่อง จนเป็นความวิตกกังวลเรื้อรัง อาจทำให้เกิดปัญหาทางกายภาพที่รุนแรงขึ้น เช่น

    หากความกังวลที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังไม่ได้รับการรักษา อาจพัฒนากลายไปเป็น ภาวะซึมเศร้า ระบบต่าง ๆ ของร่างกายนั้นมีความเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น ดังนั้นความวิตกกังวลที่มากเกินไปนั้นอาจนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางร่างกายได้

    วิธี หยุดความกังวล ที่เกิดขึ้น

    ทำสมาธิ

    การฝึกสมาธิหรือการทำสมาธิ เป็นวิธีการที่ทำให้คุณอยู่กับปัจจุบัน ไม่ทำให้คิดฟุ้งซ่าน Kevon Owen นักจิตอายุรเวททางคลินิกกล่าวว่าวิธีการทำสมาธินั้น เป็นวิธีการที่ช่วยนำคุณออกมาจากความคิดของตนเอง ไม่หลงไปกับความคิด จินตนาการที่เกิด โดยการทำสมาธินั้นมีหลายแบบ อาจจะเป็นการหาสถานที่สงบ ๆ หลับตา หายใจเข้าลึก ๆ แล้วค่อย ๆ หายใจออก ขณะที่หายใจเข้า-ออก ก็คอยสังเกตความคิดของตนเองไม่ให้วอกแวกไปที่อื่น

    ฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก

    การฝึกกำหนดลมหายใจเข้า-ออก นั้นเป็นการเพิ่มระดับออกซิเจนให้กับสมอง และมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบของความวิตกกังวลได้ การฝึกลมหายใจเข้า-ออกนั้นช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจลง ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จิตใจสงบลง และคลายความกังวล

    หาเพื่อนคุย

    การได้พูดคุย ระบายปัญหาของตนเองเป็นเหมือนกับการจัดการกับความวิตกกังวล โดยอาจจะคุยกับคนที่มีความเข้าใจคุณ ซึ่งจะทำให้คุณรู้สึกสบายใจที่ได้พูดออกไป และสบายใจที่ยังมีคนรับฟังปัญหาของคุณ

    บันทึกความกังวล

    การบันทึกความกังวล เป็นวิธีที่ช่วยให้คุณได้คิดวิเคราะห์ และประมวลผลความรู้สึกของตัวเอง โดยการเริ่มบันทึกความกังวลของตน อาจจะบันทึกก่อนเข้านอน เป็นเหมือนการทิ้งความกังวลไว้บนกระดาษ เมื่อกลับมาอ่านคุณอาจจะเรียนรู้เกี่ยวกับความกังวลที่เกิดขึ้นได้ในมุมมองใหม่ ๆ

    ออกกำลังกาย

    การออกกำลังกายนี่ถือเป็นยาวิเศษที่สามารถรักษาได้เกือบทุกโรคจริงๆ การออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกดี นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย

    รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

    การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่มีความสมดุล มีส่วนช่วยในการจัดการกับความเครียดและความกังวลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    จะเห็นได้ว่าความวิตกกังวลเป็นภาวะทั่วไปที่เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากัน แต่หากคุณไม่สามารถจัดการความวิตกกังวลได้  ก็จะส่งผลให้เกิดความเครียด และส่งผลร้ายต่อร่างกายต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น วิธีแก้ความวิตกกังวลที่ได้ยกตัวอย่างมานอกจากจะแก้ไขความวิตกกังวลไม่ให้เรื้อรัง ลุกลามไปจนควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้ ก็จะส่งผลดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเรา

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา