การตรวจเชื้อ HIV มีจุดประสงค์หลักเพื่อตรวจหาเชื้อ HIV ที่อาจได้รับจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น หรืออาจได้รับจากแม่สู่ลูก โดยขั้นตอนการตรวจเชื้อ HIV ได้แก่ การลงทะเบียนเพื่อรับการตรวจเลือด พูดคุยปรึกษากับคุณหมอ เจาะเลือด และนัดฟังผล โดยขั้นตอนอาจแตกต่างกันออกไปเล็กน้อยตามแต่ละโรงพยาบาล
[embed-health-tool-ovulation]
คุนายแพทย์ วิฉกร จิตประพันธ์ แพทย์ประจำคลินิก Pulse สีลม ได้ให้คำแนะนำถึงแนวทางการตรวจหาเชื้อเอชไอวีว่ามีอยู่ด้วยกันหลายแบบ และแตกต่างกันไปตามโรงพยาบาลหรือสถานให้บริการ อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อเอชไอวี จะมีระยะที่เราเรียกกันว่าระยะฟักตัว (Window Period) ซึ่งถ้าไม่ทราบระยะฟักตัว (Window Period) ผู้ที่ต้องการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอาจจะต้องทำการปรึกษาแพทย์หรือผู้ให้คำปรึกษาก่อน เพื่อจะได้สามารถเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสม จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการตรวจเชื้อ HIV
เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม
ก่อนจะไปเข้ารับ การตรวจหาเชื้อเอชไอวี นั้น ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืองดอาหาร ขอแค่เตรียมกายและใจให้พร้อมก็สามารถไปเข้ารับการตรวจได้เลย
ลงทะเบียนคนไข้
แรกเริ่มในการเข้าไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีนั้น สถานบริการหรือโรงพยาบาล แต่ละแห่งจะมีการลงทะเบียนคนไข้ที่แตกต่างกัน บางแห่งต้องเตรียมบัตรประชาชน ต้องใช้หมายเลขบัตรประชาชน ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง แต่บางแห่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชน หรือเลขประจำตัวใด ๆ สามารถเข้ารับการตรวจแบบนิรนาม (Anonymous) ได้เลย
พูดคุย และประเมินความเสี่ยงเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว ทางผู้ให้บริการจะเรียกผู้รับบริการที่ต้องการตรวจหาเชื้อเอชไอวี เข้ามาพูดคุยก่อน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์และการติดเชื้อเอชไอวีในเบื้องต้น จากนั้นผู้ให้บริการจะทำการประเมินความเสี่ยงร่วมกันกับผู้รับบริการ เช่น มีความเสี่ยงมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน หรือมีอาการผิดปกติอย่างไรจึงทำให้ตัดสินใจมาตรวจเชื้อเอชไอวีในวันนี้
เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกัน ผู้เข้ารับบริการจำเป็นที่จะต้องมีการตกลงหรือยินยอมที่จะรับ การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ซึ่งอาจจะมีการให้คำยินยอมทางวาจา หรืออาจจะมีการเซ็นเอกสารให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
เจาะเลือด และทำการเก็บตัวอย่างเลือด
จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการเจาะเลือด ซึ่งอาจจะเป็นการเก็บเลือดปริมาณเล็กน้อยโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว หรือทำการเก็บเลือดโดยการเจาะเลือดที่ข้อพับแขน ซึ่งจะใช้เลือดประมาณ 2-3 ซีซี (มิลลิลิตร) ระยะเวลาในการตรวจ อาจจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แล้วแต่สถานที่ให้บริการในการตรวจ
นัดฟังผล
หลังจากตรวจเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการเรียกให้ผู้รับบริการกลับมาฟังผล ซึ่งขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับว่าสถานที่ให้บริการนั้น ๆ จะมีการนัดฟังผลเร็วหรือช้า เมื่อผู้รับบริการได้ทราบผลเลือดแล้ว
- กรณีที่ผลเลือดเป็นบวก ทางผู้ให้บริการจะมีการแจ้งผลตรวจ มีการพูดคุยหรือแนะนำเรื่องของการรับยาต้านไวรัส ยาเพร็พ (PrEP) และการเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง หรืออาจแนะนำให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
- กรณีที่ผลเลือดเป็นลบ ผู้ให้บริการอาจจะมีการพูดคุยหรือแนะนำแนวทางการลดความเสี่ยงในอนาคต แนะนำเรื่องของการใช้ถุงยางอนามัย แนะนำเรื่องของการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือแนะนำให้มี การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในกรณีมีความเสี่ยงทุก ๆ 3 เดือนหรือ 6 เดือน
สรุปสาระสำคัญ
สุดท้ายนี้คุณหมอยังได้ทิ้งท้ายอีกว่า การตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในปัจจุบัน เพียงแค่มีบัตรประจำตัวประชาชนก็สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีฟรีได้ที่สถานบริการของทางรัฐบาลปีละ 2 ครั้ง ซึ่งถือว่าง่ายและสะดวกเป็นอย่างมาก หากท่านใดมีความเสี่ยงหรือต้องการตรวจหาเชื้อเอชไอวี หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเอดส์ สามารถไปขอคำแนะนำหรือเข้ารับการตรวจได้ที่สถานพยาบาลของรัฐบาลหรือคลินิกที่ให้บริการตรวจหาเชื้อเอชไอวี