backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก

ยาสอดช่องคลอด ใช้อย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2024

ยาสอดช่องคลอด ใช้อย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง

ยาสอดช่องคลอด หรือยาเหน็บช่องคลอด เป็นยารักษาเฉพาะที่ มักใช้ในการรักษาการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ยานี้มีประสิทธิภาพดีและผลข้างเคียงน้อย มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายด้านหนึ่งโค้งมน เพื่อให้สอดเข้าช่องคลอดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนใช้ยาสอดทุกครั้ง เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรือข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยา กำลังตั้งครรภ์

ยาสอดช่องคลอด ใช้สำหรับอะไร

ยาสอดช่องคลอดใช้รักษาโรคติดเชื้อราในช่องคลอด หรือการติดเชื้อประเภทอื่น ๆ เช่น ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ช่วยลดอาการแสบร้อนช่องคลอด อาการคัน และตกขาว ตัวยามีฤทธิ์เข้าไปหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ติดเชื้อ โดยอาจช่วยลดอาการเฉพาะที่ได้เร็วกว่ายารับประทานและอาจช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประสิทธิภาพของยาอาจแตกต่างกันไป

ยาสอดช่องคลอด ใช้อย่างไร

ยาสอดช่องคลอดสามารถใช้ได้ 2 วิธี ดังนี้

1. ใช้มือช่วยสอดยา

วิธีใช้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่า
  2. แกะยาออกจากซอง จากนั้นนำยาจุ่มน้ำเล็กน้อยประมาณ 1-2 วินาที เพื่อให้ตัวยานิ่มและลื่น สามารถสอดเข้าช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
  3. นอนหงาย ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แยกขาเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ สอดยาด้านที่มีลักษณะมนเข้าไปในช่องคลอด ใช้นิ้วมือดันยาเข้าไปในช่องคลอดให้ลึกที่สุด
  4. หลังจากสอดยาเข้าไปแล้ว ให้นอนค้างท่าเดิมประมาณ 15 นาที เพื่อไม่ให้ยาไหลออกจากช่องคลอด หรืออาจใช้ยาสอดช่องคลอดก่อนนอนเพื่อเลี่ยงการลุกขึ้นเดินที่อาจทำให้ยาหลุดออกได้

2. ใช่อุปกรณ์ช่วยสอดยา

วิธีใช้

  1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ
  2. แกะยาออกจากซอง แล้วใส่ยาลงไปในอุปกรณ์ช่วยสอดยา โดยหันด้านที่มีลักษณะมนออกด้านนอก เพื่อให้สอดเข้าช่องคลอดง่ายยิ่งขึ้นและลดอาการเจ็บ
  3. นอนหงาย ชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แยกขาเล็กน้อย ค่อย ๆ ดันอุปกรณ์เข้าไปให้ลึกพอประมาณ จากนั้นใช้นิ้วกดปลายก้านสูบเพื่อปล่อยตัวยาเข้าช่องคลอด แล้วนำอุปกรณ์ออกมาได้
  4. หลังจากสอดยาเข้าไปแล้ว ให้นอนค้างท่าเดิมประมาณ 15 นาที เพื่อไม่ให้ยาไหลออกจากช่องคลอด หรืออาจใช้ยาสอดช่องคลอดก่อนนอนเพื่อเลี่ยงการลุกขึ้นเดินที่อาจทำให้ยาหลุดออกได้

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการใช้ยาสอดช่องคลอด

  • หากลืมสอดยาหลายวัน ให้สอดยาในวันถัดไปได้ตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
  • ระหว่างสอดยา ยาอาจละลายออกมาเลอะกางเกงชั้นใน แต่การใส่ผ้าอนามัยหรือใช้กระดาษทิชชู่รองอาจช่วยป้องกันยาเลอะกางเกงชั้นในได้
  • เก็บยาในอุณภูมิห้อง หลีกเลี่ยงการเก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เพราะอาจทำให้ยาละลายได้
  • หากมีประจำเดือน สามารถใช้ยาสอดได้ตามปกติไม่ต้องหยุดยา

ข้อควรระวังในการใช้ยาสอดช่องคลอด

การใช้ยาสอดช่องคลอดอาจมีข้อเสียและข้อควรระวังบางประการ ผู้ป่วยควรสอบถามคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีปัจจัยเหล่านี้

  • ไม่เข้าใจวิธีใช้ยา เนื่องจากการใช้ยาสอดอาจมีหลายขั้นตอน ทำให้ผู้ป่วยสับสน หรือใช้ยาไม่สะดวก
  • มีอาการระคายเคืองง่าย เนื่องจากยาสอดช่องคลอดอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบหรือคันบริเวณช่องคลอด
  • แพ้ส่วนประกอบในยา เช่น อิมิดาโซล (Imidazoles) หรือผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราในช่องคลอดอื่น ๆ
  • เคยช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อแคนดิดา (Candida) มากกว่า 2 ครั้ง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
  • เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์
  • อายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 60 ปี

ความผิดปกติจากการใช้ยาสอดช่องคลอดที่ควรเข้าพบคุณหมอ

หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้หลังใช้ยาสอดช่องคลอด ควรหยุดใช้ยาและเข้าพบคุณหมอทันที

  • ปวดท้องน้อย ปัสสาวะลำบาก
  • อวัยวะเพศมีรอยแดง ระคายเคือง หรือบวม
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ
  • แผลพุพองหรือแผลในช่องคลอด
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา