หนองในหายเองได้ไหม อาจเป็นคำถามที่ผู้ที่เป็นหนองในสงสัย หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ส่งผลให้มีอาการคันอวัยวะเพศ ตกขาวผิดปกติ อัณฑะบวม และมีของเหลวไหลออกจากอวัยวะเพศ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมีบุตรยาก ท่ออสุจิอักเสบ การแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรียที่ส่งผลกระทบต่อข้อต่อและผิวหนัง
[embed-health-tool-ovulation]
หนองในเกิดจากอะไร
หนองใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ หนองในแท้ (Gonorrhea) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) และหนองในเทียม (Chlamydia) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis)
โรคหนองในสามารถแพร่กระจายได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันทางช่องคลอด ปาก และทวารหนัก นอกจากนี้ หากสตรีตั้งครรภ์เป็นหนองในก็อาจแพร่กระจายไปยังทารกได้ระหว่างการคลอดบุตร ทารกที่ติดเชื้อหนองในอาจมีความเสี่ยงต่อโรคปอด และการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ดวงตา ดังนั้น จึงควรรีบรักษาให้หายก่อนถึงกำหนดคลอด
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดหนองใน มีดังนี้
- มีคู่นอนหลายคน
- เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่สอบถามข้อมูลประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ใช้เซ็กส์ทอยร่วมกันโดยไม่ทำความสะอาดก่อน
- ใช้ของส่วนตัว เช่น ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน ร่วมกับผู้อื่น
อาการหนองใน
อาการหนองใน มีดังนี้
อาการหนองในของผู้หญิง
- เจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะและอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์
- มีอาการคันบริเวณช่องคลอดและทวารหนัก
- ปวดท้องน้อยและปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
- มีตกขาวปริมาณมาก และสีตกขาวผิดปกติ เช่น สีเขียว สีเหลือง
อาการหนองในของผู้ชาย
- มีหนองไหลออกจากปลายองคชาต
- ปวดอัณฑะ
- อัณฑะบวม
- เจ็บแสบอวัยวะเพศขณะปัสสาวะ
หนองในสามารถแพร่กระจายและส่งผลกระทบต่ออวัยวะส่วนอื่นในร่างกาย จึงอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตาไวต่อแสง ปวดตา น้ำตาไหล เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม ข้อต่ออักเสบ รู้สึกปวดข้อเมื่อเคลื่อนไหวหรือขณะทำกิจกรรม อาการคันที่ทวารหนักและอาจมีหนองหรือเลือดไหลออกมา
หนองในหายเองได้ไหม
บางคนอาจมีอาการหนองในเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีเลย จึงอาจทำให้คิดว่าหนองในนั้นหายเองได้ แต่จริง ๆ แล้วหนองในไม่สามารถหายได้เอง แต่จำเป็นต้องเข้ารับการวินิจฉัยและรักษา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำการดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นหนองในซ้ำบ่อยครั้ง
วิธีการรักษาหนองใน มีดังนี้
- ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) เป็นยาปฏิชีวนะในรูปแบบรับประทานที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองใน โดยควรรับประทานก่อนหรือหลังอาหาร ปริมาณ 2 กรัม 1 ครั้งไม่ควรหยุดยาหรือลดขนาดยาเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคุณหมอ เพราะอาจทำให้ร่างกายดื้อยา อีกทั้งควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากสังเกตว่ามีอาการผิดปกติหลังใช้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง ลมพิษ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจลำบาก
- ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) คือยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ 500 มิลลิกรัม ผลข้างเคียงของยานี้ คือ อาจทำให้ผิวบวมแดงในบริเวณที่ฉีดยา ท้องร่วง หายใจลำบาก ควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากพบว่ามีอาการรุนแรงหลังใช้ยา เช่น หัวใจเต้นเร็ว ใบหน้าบวม ลิ้นบวม เหนื่อยล้า ปวดท้อง เจ็บหน้าอก ท้องอืด ผิวหนังลอก แผลพุพอง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีชมพู สีน้ำตาล หรือสีแดงและมีกลิ่นเหม็น
- ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) คือยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงหลังฉีด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดข้อ เหนื่อยง่าย และควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากสังเกตว่ามีอาการรุนแรงหลังใช้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ลิ้น ลำคอ หรือริมฝีปาก
การป้องกันหนองใน
การป้องกันหนองใน อาจทำได้ดังนี้
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองใน
- สอบถามประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของคู่นอนก่อนเสมอ
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากมีอาการผิดปกติ เช่น แสบร้อนอวัยวะเพศขณะขับถ่ายหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์ มีผื่นขึ้นบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์หากมีแผลเปิดบริเวณอวัยวะเพศ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ส่งผลให้เกิดโรคหนองในหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
- ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกันและควรทำความสะอาดเซ็กส์ทอยทุกครั้งหลังการใช้งาน
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ