อวัยวะเพศไม่แข็ง หรือ นกเขาไม่ขัน เป็นปัญหาสุขภาพเพศชาย ที่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคเรื้อรัง ผลข้างเคียงของยาบางชนิด ความเครียด โดยมีอาการคืออวัยวะเพศไม่แข็งตัว แม้ว่าจะถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ หรือถึงจุดสุดยอดเร็วจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงเกิดผลกระทบต่อจิตใจ และอาจเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักได้
[embed-health-tool-bmr]
อวัยวะเพศไม่แข็ง เกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็ง อาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาทและหลอดเลือดที่ช่วยควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศ ทำให้เลือดไม่เพียงพอต่อการเกิดปฏิกิริยาการแข็งตัวของอวัยวะเพศจนทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ ซึ่งสาเหตุที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือด มีดังต่อไปนี้
สาเหตุทางกายภาพ
- ภาวะหลอดเลือดอุดตัน หรือภาวะหลอดเลือดตีบ
- คอเลสเตอรอลสูง
- ความดันโลหิตสูง
- โรคหัวใจ
- โรคเบาหวาน
- น้ำหนักเกินเกณฑ์ โรคอ้วน
- ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease)
- การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากและการผ่าตัดที่กระทบต่อบริเวณอุ้งเชิงกรานและไขสันหลัง
- การนอนหลับผิดปกติ
สาเหตุทางจิตใจ
- อาการซึมเศร้า
- ความวิตกกังวล ความเครียด
- ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง
- ความรู้สึกกลัว
- ความรู้สึกผิดต่อคนรัก โดยเฉพาะความรู้สึกผิดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็ง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อวัยวะเพศไม่แข็ง มีดังนี้
- การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปยังหลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศลดลง และอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- อุบัติเหตุและการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การฉายรังสีรักษามะเร็ง และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ที่ส่งผลให้เส้นประสาทและหลอดเลือดแดงที่ควบคุมการแข็งตัวของอวัยวะเพศถูกทำลายลง นำไปสู่ภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- สภาวะทางจิตใจ เช่น ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า
- ผลข้างเคียงของยา ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาภาวะอาการต่อมลูกหมาก
วิธีรักษาอวัยวะเพศไม่แข็ง
วิธีรักษาอวัยวะเพศไม่แข็ง มีดังนี้
- ยาในรูปแบบรับประทาน ที่อาจช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้ออวัยวะเพศชาย และเพิ่มการไหลเวียนเลือด ที่อาจช่วยให้อวัยวะเพศชายตื่นตัวและตอบสนองเมื่อถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศมากขึ้น ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาดาลาฟิล (Tadalafil) วาเดนาฟิล (Vardenafil) อะแวนาฟิล (Avanafil) โดยปริมาณการรับประทานยาอาจแตกต่างกันไปตามชนิดยา อาการของผู้ป่วย และตามดุลพินิจของคุณหมอ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาเหล่านี้ เช่น คัดจมูก หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดหลัง การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ปวดท้อง
- อัลพรอสทาดิล (Alprostadil) เป็นยาที่มีในรูปแบบฉีดเข้าสู่อวัยวะเพศชายโดยตรง และยาเหน็บที่สอดผ่านทางท่อปัสสาวะ ใช้เพื่อช่วยทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว แต่อาจมีผลเพียงชั่วคราว ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และอาจส่งผลให้เกิดอาการแสบร้อน เจ็บปวด และมีเลือดออกเล็กน้อย
- การบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน อาจมีในรูปแบบครีม เจล สารละลายเฉพาะ แผ่นแปะผิวหนัง แบบฉีด เหมาะสำหรับผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนต่ำ ที่เป็นสาเหตุทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอวัยวะเพศไม่แข็ง
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอวัยวะเพศไม่แข็ง อาจทำได้ดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ร่างกายช่วยสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น
- ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ออกไปพบเจอเพื่อน
- หยุดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ปรึกษาคุณหมอ และรับการรักษาโรคที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะอวัยวะเพศไม่แข็ง รวมถึงปรับเปลี่ยนยาที่กำลังใช้อยู่ หากมีผลข้างเคียงที่ทำให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ตรวจสุขภาพประจำปี