backup og meta

แผลเป็น และวิธีลดรอยแผลเป็น

แผลเป็น และวิธีลดรอยแผลเป็น

แผลเป็น คืออาการที่ร่างกายเยียวยาตัวเองหลังเกิดอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้ว แผลเป็นอาจจางลงได้ แต่มักไม่หายสนิท อย่างไรก็ตาม วิธีลดเลือนรอยแผลเป็นที่ถูกต้อง อาจช่วยให้รอยแผลเป็นดูจางลงได้แบบไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

แผลเป็น คืออะไร

แผลเป็น (Scars) คือ รอยบนผิวหนังที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเยียวยาตัวเองของร่างกาย เวลาที่ผิวหนังบาดเจ็บ ร่างกายจะผลิตคอลลาเจนออกมามากขึ้น เพื่อช่วยรักษาแผลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื้อเยื่อที่มีการสมานตัวแล้วนี้จะไม่มีส่วนประกอบของผิวตามปกติทั้งหมด รอยแผลเป็นจึงมักดูต่างจากผิวส่วนที่เหลือ

ลักษณะของแผลเป็นอาจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งรูปร่าง ขนาด และความลึกของแผล มักเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้แผลเป็นมีลักษณะที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ ปริมาณของเลือดที่สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงในบริเวณนั้น สีผิว และความหนาของผิวก็ส่งผลต่อลักษณะของแผลได้เช่นกัน

แผลเป็นที่พบบ่อย เช่น

  • แผลเป็นแบบปกติ (Normal fine-line scar) มักมีลักษณะบาง เล็ก และแบน ส่วนใหญ่เกิดจากการผ่าตัด บางครั้งอาจมีอาการคันด้วยประมาณ 2-3 เดือน แผลเป็นประเภทนี้อาจดูจางลงและเรียบเสมอผิวปกติได้ภายในเวลา 2 เดือน แต่รอยอาจไม่ได้หายสนิท
  • แผลเป็นนูนเกิน (Hypertrophic scar) แผลเป็นนูนโต อาจมีสีแดง และมีอาการคันร่วมด้วย แต่รอยแผลจะไม่ขยายเกินขอบเขตรอยแผลเดิม แผลเป็นประเภทนี้อาจคงอยู่ประมาณ 6 เดือนก่อนจะค่อย ๆ นิ่มและจางลง
  • แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid scar) แผลเป็นนูนโต อาจมีสีชมพู แดง สีเดียวกับผิว หรือสีเข้มกว่าผิวบริเวณใกล้เคียง รอยแผลมักขยายตัวเกินขอบเขตรอยแผลเดิม และมีอาการคันและเจ็บร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นขยับได้ยากขึ้น แผลเป็นคีลอยด์มักถ่ายทอดทางพันธุกรรม ฉะนั้น หากเป็นแผล และคนในครอบครัวมีประวัติเป็นแผลประเภทนี้ อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อหาวิธีรักษาแผลที่เหมาะสมที่สุด
  • แผลเป็นแบบหลุมหรือรอยบุ๋ม (Pitted or sunken scar) มักเกิดจากปัญหาผิว เช่น สิว อีสุกอีใส หรือเกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้สูญเสียชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ส่งผลให้เกิดแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นคลื่น เป็นเหลี่ยม กลม หรือรี เป็นต้น

วิธีลดรอยแผลเป็น

วิธีดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดรอยแผลเป็น หรือทำให้รอยดูจางลงได้

  • พยายามรักษาบาดแผลให้สะอาดอยู่เสมอ โดยล้างบริเวณที่เป็นแผลด้วยน้ำและสบู่ เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกออกไป
  • บำรุงผิวบริเวณที่เป็นแผลด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อให้ผิวบริเวณนั้นความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ซึ่งอาจช่วยไม่ให้รอยแผลเป็นใหญ่หรือลึกขึ้น หรืออาจช่วยลดอาการคันได้
  • อาจปิดพลาสเตอร์หรือใช้ผ้าพันแผลแบบที่มีเทปกาวปิดบริเวณรอยแผลไว้ หากบาดแผลมีขนาดใหญ่ รู้สึกเจ็บ มีรอยไหม้ หรือมีรอยแดงไม่ยอมหาย อาจปิดแผลด้วยแผ่นซิลิโคนเจลหรือแผ่นไฮโดรเจล
  • เปลี่ยนพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผลทุกวัน เพื่อช่วยให้แผลสะอาด หากผิวที่ไวต่อแถบกาวของพลาสเตอร์ปิดแผล หรือผิวแพ้ง่าย อาจใช้ผ้าก๊อซกับเทปปิดแผลแบบที่เป็นกระดาษ หรือหากใช้แผ่นซิลิโคนเจลหรือแผ่นไฮโดรเจลในการปิดแผล ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างเคร่งครัด
  • หากมีการเย็บแผลเอาไว้ ควรปฎิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการดูแลแผลในช่วงก่อนหรือหลังการตัดไหม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดรอยแผลเป็น
  • ทาครีมกันแดดในบริเวณที่เป็นแผลหลังแผลแห้งแล้ว การปกป้องผิวจากแสงแดดอาจช่วยลดรอยแดงหรือรอยคล้ำลงได้ และช่วยทำให้แผลเป็นดูจางลงได้เร็วขึ้นด้วย ควรใช้ครีมกันแดดที่ป้องกันรังสียูวีได้หลากหลายชนิด โดยมีค่า SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป และควรทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
  • ไม่ควรใช้ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) บ่อยเกินไป เพราะถึงแม้จะมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อ แต่ก็อาจทำให้ผิวระคายเคืองอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้แผลหายได้ช้าลง นอกจากนี้
  • ไม่ควรแกะสะเก็ดแผล เพราะสะเก็ดแผลคือกระบวนการป้องกันบาดแผลตามธรรมชาติ ฉะนั้น การแกะสะเก็ดแผลซ้ำ ๆ ในเวลาที่บาดแผลกำลังเยียวยาตัวเองจึงอาจทำให้แผลหายช้า และอาจทำให้แผลเป็นเห็นชัดขึ้นด้วย

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Proper wound care: How to minimize a scar. https://www.aad.org/public/skin-hair-nails/injured-skin/wound-care. Accessed on August 10, 2018

How to Make Scars Less Visible. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/ss/slideshow-tips-to-make-scars-less-visible. Accessed May 31, 2021

Scars and Your Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/scars. Accessed May 31, 2021

SCARS: DIAGNOSIS AND TREATMENT. https://www.aad.org/public/diseases/a-z/scars-treatment. Accessed march 15, 2022

What is a scar?. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/scars. Accessed march 15, 2022

Scars. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/11030-scars. Accessed march 15, 2022

Scars. https://www.nhs.uk/conditions/scars/. Accessed march 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

15/03/2022

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แผลเป็น เด็ก จะรักษาได้อย่างไร

ประโยชน์ของว่านหางจระเข้ต่อสุขภาพผิว


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 15/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา