backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

คันหน้ายุบยิบ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

คันหน้ายุบยิบ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

คันหน้ายุบยิบ เป็นปัญหาผิวหนังที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผิวแห้ง โรคผิวหนัง การใช้ยาบางชนิด รวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ทั้งนี้ หากมีอาการคันหน้ายุบยิบ ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยการใช้ผ้าเย็นประคบหน้า ล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด ทายาเพื่อลดอาการคัน ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

คันหน้ายุบยิบ เกิดจากสาเหตุอะไร

คันหน้ายุบยิบเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ผิวหน้าแห้ง ผิวหน้าแห้งเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายขาดน้ำ ล้างหน้าบ่อย ใช้สบู่ฤทธิ์แรง อาบน้ำอุ่นเป็นเวลานาน อยู่สภาพแวดลอมที่อากาศแห้ง หรือมีปัญหาสุขภาพบางประการ
  • อายุที่มากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหน้าและผิวหนังส่วนอื่น ๆ จะผลิตน้ำมันได้น้อยลง ทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นหรือแห้งได้ง่าย และก่อให้เกิดอาการคันร่วมด้วย
  • โรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้เป็นการตอบสนองอย่างผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารต่าง ๆ ที่พบได้ในอาหาร อากาศ วัคซีนป้องกันโรค รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยทั่วไป เมื่อใบหน้าสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ผู้ที่เป็นภูมิแพ้จะรู้สึกคัน และอาจมีผื่นขึ้นร่วมด้วย
  • น้ำดีคั่งในตับ เป็นโรคเกี่ยวกับตับที่พบได้ในผู้ป่วยโรคตับ โรคมะเร็งตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี หญิงตั้งครรภ์ และมักหายไปเองหลังคลอดบุตร เมื่อเป็นโรคนี้ หญิงตั้งครรภ์จะมีอาการคันอย่างรุนแรงตามมือ เท้า และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ใบหน้า ร่วมกับมีอาการป่วยอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร ตัวเหลือง
  • ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับผิวหนัง อาการคันเป็นอาการร่วมของปัญหาสุขภาพหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นภาวะรูขุมขนอักเสบ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ โรคลมพิษ หรือโรคสะเก็ดเงิน
  • ปัญหาสุขภาพอื่น อาการคันตามผิวหนังโดยปราศจากผื่น อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางประการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเลือด ไต ตับ และต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และร้อยละ 69 ของผู้ป่วยตับแข็งจากท่อนํ้าดีชนิดปฐมภูมิ มีอาการคัน ร่วมกับอาการป่วยอื่น ๆ ของโรค
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน (Aspirin) โอปิออยด์ (Opioid) ยารักษาความดันโลหิตสูง มีผลข้างเคียงทำให้ผู้ใช้มีอาการคัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับผื่นหรือไม่ก็ได้
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ บางครั้ง อาการ คันหน้ายุบยิบ อาจเกิดจากระบบประสาทของใบหน้าทำงานผิดปกติ ซึ่งจัดเป็นอาการประสาทหลอนทางการสัมผัส (Sensory Hallucination) รูปแบบหนึ่ง และบางครั้ง ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท อย่างโรคงูสวัดหรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ยังสัมพันธ์กับอาการ คันหน้ายุบยิบ ด้วยเช่นเดียวกัน

คันหน้ายุบยิบ ดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อมีอาการคันหน้ายุบยิบ อาจเลือกดูแลตัวเองเบื้องต้น ด้วยวิธีต่อไปนี้ได้

  • ประคบเย็นบริเวณใบหน้า เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • หลีกเลี่ยงการเกาเพราะยิ่งทำให้เกิดอาการระคายเคือง
  • เช็ดหน้าด้วยผ้าเย็น หรือล้างหน้าด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะช่วยกำจัดสารก่อภูมิแพ้หรือสารก่อการระคายเคืองบนใบหน้าได้
  • อาบน้ำอุณหภูมิห้อง โดยไม่ใช้สบู่
  • ลดความเครียด หรือหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด เพราะความเครียดจะทำให้อาการคันรุนแรงยิ่งขึ้น
  • ทายาไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ชนิดครีม
  • รับประทายาแก้แพ้ หากอาการคันเกิดจากโรคภูมิแพ้
  • ทาครีมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหน้า ทั้งเช้าและก่อนนอน

คันหน้ายุบยิบ ป้องกันได้หรือไม่

อาการคันหน้ายุบยิบ อาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันการขาดน้ำ โดยผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 13 แก้วต่อวัน และผู้หญิงควรดื่มน้ำประมาณ 9 แก้วต่อวัน
  • เลือกอาบน้ำอุณหภูมิห้องแทนการอาบน้ำร้อน และจำกัดเวลาอาบน้ำให้อยู่ระหว่าง 5-10 นาที
  • ทามอยส์เจอไรเซอร์ทันทีหลังอาบน้ำ หรือขณะที่ผิวหน้ายังชื้นอยู่
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับใบหน้าที่อ่อนโยนต่อผิวหนัง หรือไม่มีส่วนผสมที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคือง เช่น น้ำหอม แอลกอฮอล์

คันหน้ายุบยิบเมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

หากอาการคันหน้ายุบยิบ มีลักษณะดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอ เพื่อรับการวินิจฉัยสาเหตุและรักษาอย่างตรงจุด

  • เป็นอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 2 สัปดาห์ แม้จะดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว
  • เกิดขึ้นพร้อมกับอาการป่วยอื่น ๆ เช่น เหนื่อยล้าอย่างรุนแรง น้ำหนักลด ไข้ขึ้น
  • รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • คันหน้ายุบยิบร่วมกับมีอาการติดเชื้อหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา