backup og meta

Eczema คือ อะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

Eczema คือ อะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

Eczema คือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบหรือการระคายเคือง เนื่องจากเกราะป้องกันผิวหนังอ่อนแอ รวมถึงอาจเกิดจากผิวหนังสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมี ส่งผลให้ผิวหนังแห้ง คัน และอักเสบ แม้โรคผื่นผิวหนังอักเสบจะไม่ใช่โรคติดต่อ และสามารถบรรเทาอาการได้เอง แต่ก็ควรดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้ หากรักษาด้วยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงกว่าเดิม ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

Eczema คือ อะไร

Eczema คือ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ทำให้ผิวหนังแห้ง คัน และอักเสบ โดยผื่นผิวหนังอักเสบอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของยีนในร่างกายหรือความอ่อนแอของเกราะป้องกันผิวหนัง รวมถึงอาจเกิดจากการที่ผิวหนังสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมี โดยผู้ที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้อาหาร โรคหอบหืด และไข้ละอองฟางได้ด้วย แม้โรคผื่นผิวหนังอักเสบจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่การดูแลผิวด้วยการให้ความชุ่มชื้นและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจช่วยบรรเทาอาการและป้องกันการลุกลามของโรคได้

อาการของ Eczema

อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบอาจเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย ดังนี้

  • ผิวแห้ง แตก ลอกเป็นขุย ผิวหนาและหยาบ และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • มีตุ่มนูนเล็ก ๆ หรือผื่นที่ผิวหนัง อาจมีสีแดงหรือสีชมพู ขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละคน
  • อาจมีหนองไหล
  • ผิวรอบดวงตาคล้ำขึ้น

นอกจากนี้ ยังควรสังเกตอาการอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา

  • อาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อคุณภาพการนอนและการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง มีรอยแดง ตุ่มนูนเกิดขึ้นใหม่มากขึ้น มีหนอง น้ำเหลือง และสะเก็ดสีเหลือง
  • อาการไม่หายไปหรืออาจรุนแรงขึ้นถึงแม้ว่าจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี

สาเหตุของ Eczema

Eczema อาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีนในร่างกายที่ทำให้เกราะป้องกันผิวหนังอ่อนแอลง และเมื่อเกราะป้องกันอ่อนแอก็จะส่งผลให้ผิวไม่สามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ และไม่สามารถปกป้องผิวจากการทำร้ายของแบคทีเรีย สารระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ และปัจจัยแวดล้อมภายนอก เช่น ฝุ่น ควัน สภาพอากาศ

ในบางคนโรคผื่นผิวหนังอักเสบอาจเกิดจากการสะสมของแบคทีเรียสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) บนผิวหนังมากเกินไป โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะเจริญเติบโตแทนที่แบคทีเรียที่มีประโยชน์และขัดขวางการทำงานของเกราะป้องกันผิวจนทำให้ผิวอ่อนแอลง

นอกจากนี้ เมื่อเกราะป้องกันผิวอ่อนแอลง ร่างกายจะกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานมากขึ้น จนอาจส่งผลให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Eczema

เมื่อยีนในร่างกายเกิดความผิดปกติก็อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • โรคหอบหืด และไข้ละอองฟาง อาจเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนหรือหลังจากการเกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายอ่อนแอลง จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดโรคหอบหืด และไข้ละอองฟางได้ง่ายขึ้น
  • การแพ้อาหาร ผู้ที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบอาจมีอาการแพ้อาหารร่วมด้วยได้มากกว่าคนปกติ เนื่องจากอาหารบางชนิดอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงาน ส่งผลให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบขึ้น
  • คันเรื้อรัง ผิวหนังเป็นสะเก็ด สภาพผิวที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอาการคันและเกาผิวหนังมากขึ้น ซึ่งการเกาเป็นนิสัยที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานอาจทำให้ผิวหนังเปลี่ยนสี หนาขึ้น และเป็นสะเก็ดได้
  • สีผิวไม่สม่ำเสมอ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อผื่นหายแล้ว อาจทำให้ผิวเกิดรอยดำ รอยแดงหลังการอักเสบ มักพบบ่อยในผู้ที่มีผิวสีน้ำตาลหรือดำ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าผิวจะกลับมาสม่ำเสมออีกครั้ง
  • การติดเชื้อที่ผิวหนัง การเกาซ้ำ ๆ อาจทำให้ผิวแตกหรือเป็นรอยแผล ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ผิวหนัง นอกจากนี้ ยังอาจทำให้การติดเชื้อที่ผิวหนังแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ผิวหนังอักเสบบริเวณมือ มักเกิดขึ้นในผู้ที่ต้องใช้มือสัมผัสกับน้ำ สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง ผงซักฟอก หรือยาฆ่าเชื้อในที่ทำงานเป็นประจำ จนทำให้ผิวหนังอ่อนแอลงและเกิดการอักเสบได้
  • โรคผิวหนังอักเสบจากการสัมผัส เกิดจากการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น สารเคมี สบู่ ผงซักฟอก จนทำให้มีอาการผื่นแดงและคันเกิดขึ้น
  • ปัญหาการนอนหลับ อาการคันของโรคผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานและรุนแรงอาจรบกวนการนอนหลับ จนประสิทธิภาพการนอนแย่ลง
  • ภาวะสุขภาพจิต ผู้ป่วยที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบอาจมีแนวโน้มในการเกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลขึ้นได้ เนื่องจากอาจเกี่ยวข้องกับอาการคันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาการนอนหลับ ที่อาจส่งผลให้สุขภาพจิตใจแย่ลง

การป้องกัน Eczema

การดูแลตัวเองไม่ให้ผิวแห้งและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยป้องกันโรคผื่นผิวหนังอักเสบได้ นอกจากนี้ ยังอาจป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ควรอาบน้ำทุกวัน โดยเฉพาะหลังจากที่กลับมาจากข้างนอกหรือหลังจากออกกำลังกาย เพื่อขจัดสิ่งสกปรกที่อยู่บนผิวหนัง ควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติและไม่ควรอาบน้ำเกิน 10 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้งเกินไป
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวสูตรอ่อนโยน ปราศจากแอลกอฮอล์ การแต่งสี และน้ำหอม เพื่อป้องกันความระคายเคืองผิวจากสารเคมีที่ผสมมากับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิว
  • เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยเฉพาะหลังอาบน้ำ ควรซับผิวให้แห้งด้วยผ้าขนหนูนุ่ม ๆ จากนั้นทาผิวด้วยมอยส์เจอไรเซอร์ในขณะที่ผิวยังชื้นอยู่ เพื่อช่วยเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นของผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ เช่น เสื้อผ้าขนสัตว์ ผิวหนังสัตว์ ไรฝุ่น ฝุ่น ควัน เหงื่อ ความร้อน ความเครียด สภาพอากาศเย็นและแห้ง ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สารเคมี น้ำหอม อาหาร

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Atopic dermatitis (eczema). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/atopic-dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20353273. Accessed September 22, 2022

Eczema. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/eczema/atopic-dermatitis-eczema. Accessed September 22, 2022

What is Eczema?. https://nationaleczema.org/eczema/. Accessed September 22, 2022

Overview-Atopic eczema. https://www.nhs.uk/conditions/atopic-eczema/. Accessed September 22, 2022

Eczema (Atopic Dermatitis). https://kidshealth.org/en/parents/eczema-atopic-dermatitis.html. Accessed September 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/10/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า อาการ สาเหตุ วิธีรักษาและป้องกัน

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา