backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Seborrheic keratosis (กระเนื้อ) คืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์ · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

Seborrheic keratosis (กระเนื้อ) คืออะไร มีวิธีการรักษาอย่างไร

Seborrheic keratosis หรือกระเนื้อ คือ ส่วนของผิวหนังที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ที่มีลักษณะเป็นตุ่มสีน้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน และสีดำ มักพบได้ในบริเวณใบหน้า ลำคอ หน้าอก และหลัง กระเนื้อไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่อาจส่งผลให้ผิวหนังดูไม่เรียบเนียน จนอาจทำให้ขาดความมั่นใจในการแต่งตัวได้ อย่างไรก็ตามหากมีความต้องการอยากกำจัดกระเนื้อ ควรขอคำปรึกษาคุณหมอด้านผิวหนังเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

Seborrheic keratosis คืออะไร

Seborrheic keratosis หรือกระเนื้อ คือ ความผิดปกติของผิวหนังที่พบได้บ่อยในช่วงวัยกลางคนและสูงอายุ มีลักษณะเป็นตุ่มนูนคล้ายหูด มีตั้งแต่สีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ บางคนอาจมีกระเนื้อขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร พบได้บ่อยในบริเวณใบหน้า คอ หน้าอก และหลัง กระเนื้อมักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ใช่โรคติดต่อ และอาจไม่พัฒนาเป็นมะเร็ง

สาเหตุของ Seborrheic keratosis

สาเหตุที่ทำให้เกิดกระเนื้อนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น ดังนี้

  • การตากแดดเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังอักเสบ และพัฒนากลายเป็นกระเนื้อได้
  • การเสียดสีที่ผิวหนัง โดยเฉพาะในบริเวณรอยพับต่าง ๆ ตามร่างกาย
  • อายุที่มากขึ้น อาจทำให้เซลล์ผิวหนังเสื่อมสภาพลงตามกาลเวลา และส่งผลให้เกิดความผิดปกติของผิวหนัง
  • พันธุกรรมของคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นกระเนื้อ

อาการของ Seborrheic keratosis

อาการของกระเนื้อ อาจสังเกตได้ดังนี้

  • ตุ่มนูนรูปวงกลมหรือวงรี มีลักษณะแบนราบและมีพื้นผิวเป็นสะเก็ด หลากหลายขนาด
  • กระเนื้ออาจมีสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม หรือสีดำ
  • อาการคัน

ปกติแล้วกระเนื้อมักจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากมีอาการคันระคายเคือง มีเลือดออกเมื่อตุ่มนูนถูกเสียดสี และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ควรเข้าพบคุณหมอทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งผิวหนัง

วิธีรักษา Seborrheic keratosis

วิธีรักษากระเนื้อ มีดังนี้

  • การขูดผิว คุณหมออาจใช้ยาชาฉีดบริเวณผิวหนังที่ได้รับผลกระทบ และใช้มีดผ่าตัดขูดหรือตัดกระเนื้อออก อาจทำร่วมกับการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของกระเนื้อ
  • การจี้ด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrocautery) หรือ cabondioxide lase (CO2 laser) คุณหมออาจเริ่มด้วยการฉีดยาชาหรือแปะยาชาและนำไฟฟ้าหรือเลเซอร์จี้บริเวณกระเนื้อเพื่อทำลายกระเนื้อ โดยเฉพาะสำหรับกระเนื้อที่มีขนาดใหญ่และหนา วิธีนี้อาจส่งผลให้มีเลือดออกเล็กน้อยในบริเวณที่ทำการรักษา
  • การแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลว เป็นวิธีที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของกระเนื้อ แต่อาจไม่ได้ผลในกระเนื้อที่มีขนาดใหญ่ วิธีการรักษานี้อาจส่งผลให้เกิดตุ่มพุพอง ผิวหนังตกสะเก็ดก่อนกระเนื้อจะหลุดออก ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้สูญเสียเม็ดสีผิวถาวรได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวแทน

วิธีดูแลผิวเพื่อป้องกัน Seborrheic keratosis

วิธีดูแลผิวเพื่อช่วยป้องกันกระเนื้อ สามารถทำได้ดังนี้

  • ปกป้องผิวจากแสงแดด โดยการทาครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไปทั่วทั้งร่างกายรวมถึงใบหน้า และควรสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย สวมหมวก แว่นกันแดด หรือใช้ร่ม เพื่อป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดเมื่อจำเป็นต้องออกนอกบ้าน หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่มีแดดจัด
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะอาจส่งผลให้ผิวขาดน้ำ ผิวแห้งหยาบกร้าน และดูแก่ก่อนวัย ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงก่อให้เกิดกระเนื้อ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยลดความเครียด ที่อาจส่งผลให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควรได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่อาจช่วยบำรุงให้ผิวมีสุขภาพดี
  • ดูแลสุขอนามัย ด้วยการอาบน้ำและล้างหน้าเป็นประจำ เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่บนผิว ซึ่งอาจช่วยลดการอักเสบของผิวได้
  • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว ป้องกันไม่ให้ผิวขาดน้ำ อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง แสบผิว และผิวไหม้ได้
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 25/01/2023

    ad iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    ad iconโฆษณา
    ad iconโฆษณา