ระบบย่อยอาหาร คืออะไร
ระบบย่อยอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินอาหาร ที่เชื่อมต่อตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนัก โดยอาหารจะถูกส่งผ่านตามอวัยวะต่าง ๆ ตามลำดับ ประกอบด้วยปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก โดยมีตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อนสลายและดูดซึมสารอาหารเข้ากระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงานในร่างกายต่อไป
ระบบย่อยอาหารมีความสำคัญเนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารประเภทโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำจากอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทาน เพื่อใช้เป็นพลังงานให้ระบบภายในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ ใช้ในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมเซลล์
ระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ระบบย่อยอาหารประกอบด้วยอวัยวะหลักตามลำดับการทำงาน คือ ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ไส้ตรง และทวารหนัก โดยมีตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี ช่วยส่งเสริมกระบวนการย่อยอาหาร ดังนี้
- ปาก จุดเริ่มต้นของระบบทางเดินอาหาร โดยการย่อยอาหารจะเริ่มต้นที่ปากทันทีที่รับประทานอาหาร การเคี้ยวเป็นการแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ย่อยง่าย และน้ำลายที่ผสมเข้ากับอาหารมีเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) ช่วยอาหารย่อยอาหารประเภทแป้งให้อยู่ในรูปแบบที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้
- หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อที่แยกออกจากหลอดลมและเชื่อมต่อไปยังกระเพาะอาหาร โดยใช้วิธีการหดตัว (Peristalsis) เพื่อเคลื่อนย้ายอาหาร บริเวณกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างจะมีลิ้นเปิดปิดเพื่อป้องกันการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหาร
- กระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่มีผนังกล้ามเนื้อแข็งแรงคล้ายถุง ทำหน้าที่รองรับอาหาร ผสมและบดอาหาร โดยหลั่งกรดเอนไซม์เพปซิน (Pepsin) ช่วยในกระบวนการย่อยอาหารประเภทโปรตีน จากนั้นอาหารจะกลายเป็นของเหลวเพื่อเคลื่อนไปที่ลำไส้เล็ก
- ลำไส้เล็ก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) และลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) อาจมีความยาวประมาณ 5-6 เมตร ลำไส้เล็กจะเริ่มกระบวนการย่อยไขมันด้วยเอนไซม์ไลเปส (Lipase) ให้เป็นกรดไขมันและ กลีเซอรอล (glycerol) และดูดซึมโดยใช้น้ำดีที่ผลิตจากตับช่วยในการย่อยอาหารและกำจัดของเสีย โดยกระบวนการย่อยส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนลำไส้เล็กส่วนกลางและลำไส้เล็กส่วนปลายจะทำหน้าที่การดูดซึมอาหารเข้าสู่กระแสเลือด
- ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ขับของเสีย เชื่อมต่อกับลำไส้เล็กและไส้ตรง มีความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ประกอบด้วย ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น (Caecum) ลำไส้ใหญ่ด้านขวา (Ascending Colon) ลำไส้ใหญ่แนวขวาง (Transverse colon) ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย (Descending colon) ลำไส้ใหญ่ซิกมอยด์ (Sigmoid) ที่เชื่อมต่อกับไส้ตรง โดยของเสียที่เหลือจากการย่อยอาหารในรูปแบบของเหลวจะถูกส่งผ่านไส้ตรง ระหว่างเคลื่อนผ่าน น้ำจะถูกดูดซึมออกจนกลายเป็นรูปแบบของแข็ง และใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมง เพื่อส่งต่อไปยังทวารหนักเตรียมการกำจัดออก
- ไส้ตรง เชื่อมต่อลำไส้ใหญ่กับทวารหนัก ทำหน้าที่รับอุจจาระจากลำไส้ใหญ่ เพื่อเก็บไว้เตรียมขับถ่ายออก
- ทวารหนัก ส่วนสุดท้ายของระบบทางเดินอาหาร ประกอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูดที่ช่วยควบคุมอุจจาระ ป้องกันไม่ให้อุจจาระออกจนกว่าสมองจะสั่งการให้ขับถ่าย
- ตับ ตับอ่อน และถุงน้ำดี มีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร โดยตับอ่อนจะหลั่งเอนไซม์ในลำไส้เล็กส่วนต้นช่วยย่อยโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต และสร้างอินซูลินเพื่อช่วยเผาผลาญน้ำตาล ตับจะหลั่งน้ำดีช่วยย่อยไขมันและวิตามินบางชนิด รวมถึงขับสารพิษในร่างกาย ส่วนถุงน้ำดีทำหน้าที่เก็บและปล่อยน้ำดีไปยังลำไส้เล็กส่วนต้นเพื่อช่วยดูดซึมและย่อยไขมัน
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย