ภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย เรียกว่า ภาวะ ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) ซึ่งหากไม่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ก็มักพัฒนาเป็นโรคความดันโลหิตสูง (hypertension) ในภายหลัง
คำจำกัดความ
ความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) คืออะไร
ภาวะที่ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย เรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น (Prehypertension) ซึ่งหากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกายให้มากขึ้น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็มักจะกลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง (hypertension) ในภายหลัง ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น และโรคความดันโลหิตสูงนั้น อาจสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือที่มักเรียกกันว่า ภาวะหัวใจวาย (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) ได้
ค่าระดับความดันโลหิตนั้นมีสองตัวเลข คือ ตัวเลขด้านบนและตัวเลขด้านล่าง โดยเลขตัวบนหมายถึง ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic pressure) ส่วนเลขตัวล่างคือ ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจ (diastolic pressure) ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นจะมีค่าความดันโลหิตตัวบนอยู่ระหว่าง 120-139 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันโลหิตตัวล่างอยู่ที่ 80-89 มม.ปรอท
ความดันโลหิตสูงขั้นต้น พบบ่อยแค่ไหน
จากค่าเฉลี่ยของการวัดความดันโลหิตตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป เมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายเบื้องต้นก่อนพบหมอตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มักมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณอาจคิดว่าโรคความดันโลหิตสูงมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะคนทุกวัยสามารถมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
อาการ
อาการของ ความดันโลหิตสูงขั้นต้น
ทั้งภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น และโรคความดันโลหิตสูงมักไม่แสดงอาการ ฉะนั้น วิธีเดียวที่จะบ่งชี้ว่าคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น ก็คือ การติดตามอ่านค่าความดันโลหิตของคุณเอง ด้วยการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่ไปพบหมอ หรือคุณสามารถวัดความดันโลหิตที่บ้าน ได้ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยทุก ๆ สองปี คุณอาจจำเป็นต้องวัดความดันโลหิตถี่ขึ้น หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
สาเหตุ
สาเหตุของความดันโลหิตสูงขั้นต้น
ปัจจัยใด ๆ ก็ตามที่เพิ่มแรงดันให้กับผนังหลอดเลือดแดงล้วนสามารถนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้ทั้งสิ้น ในบางครั้งโรคแฝงต่าง ๆ ก็สามารถทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน โรคที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น หรือโรคความดันโลหิตสูง มีดังนี้
- ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
- ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea)
- โรคไต (Kidney disease)
- โรคต่อมหมวกไต (Adrenal disease)
- โรคต่อมไทรอยด์ (Thyroid disease)
ยารักษาโรคบางชนิด ทั้งที่เป็นยาตามใบสั่งแพทย์และยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาคุมกำเนิด ยาแก้หวัด ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด รวมถึงยาเสพติด เช่น โคเคน แอมเฟตามีน อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นชั่วคราวได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูงขั้นต้น
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นนั้นมีอยู่หลายประการ เช่น
- มีน้ำหนักเกิน ปัจจัยเสี่ยงในขั้นต้นคือการมีภาวะน้ำหนักเกิน ยิ่งมีมวลร่างกายมากเท่าไหร่ เลือดก็ยิ่งต้องสูบฉีดเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อในร่างกายมากขึ้นเท่านั้น เมื่อปริมาณเลือดที่หมุนเวียนผ่านเส้นเลือดเพิ่มขึ้น แรงดันที่ผนังหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- เป็นคนวัยหนุ่มสาว มีความเสี่ยงเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้มากกว่าผู้สูงอายุ
- เป็นผู้ชาย ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- เป็นคนผิวสี ความดันโลหิตสูงนั้นพบมากในคนผิวสี ในช่วงวัยกลางคน คนผิวสีมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนผิวขาว
- คนในครอบครัวมีประวัติเกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตสูงมักจะถ่ายทอดกันในครอบครัว หากญาติสายตรง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน
- ไม่ออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกายสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและภาวะน้ำหนักเกิน
- รับประทานอาหารที่เค็มจัด (โซเดียมสูง) หรือมีโพแทสเซียมต่ำ โซเดียมและโพแทสเซียมคือสารอาหารสำคัญ ที่ร่างกายใช้ในการควบคุมความดันโลหิต หากคุณมีปริมาณโซเดียมมากเกินไป หรือโพแทสเซียมต่ำเกินไป คุณก็จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูง
- สูบบุหรี่ เแม้แต่การอยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่ สามารถเพิ่มโอกาสในเกิดโรคความดันโลหิตสูง
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 65 ปี หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 1 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิงทุกช่วงวัยและผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปนั้น อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนึ่งแก้วในที่นี้เท่ากับ เบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรา 80 พรูฟ (40 ดีกรี) 1.5 ออนซ์
- โรคเรื้อรัง เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหยุดหายใจขณะหลับ สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยความดันโลหิตสูงขั้นต้น
การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นสามารถทำได้ด้วยการตรวจวัดค่าความดันโลหิต โดยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะใช้ปลอกแขนที่พองได้สวมที่ต้นแขนของคุณ และวัดค่าความดันโลหิต โดยใช้เครื่องวัดความดัน
การอ่านค่าความดันโลหิตที่มีหน่วยเป็นมิลลิเมตรปรอท (มม.ปรอท) นั้น มีสองตัวเลข เลขตัวบนหมายถึง ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว (systolic pressure) เลขตัวล่างคือ ระดับความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจ (diastolic pressure)
ค่าความดันโลหิตตามปกติคือ ต่ำกว่า 120/80 มม.ปรอท โดยสามารถจัดแบ่งเกณฑ์การวัดค่าความดันได้ดังนี้
- ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น
มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ระหว่าง 120-139 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 80-89 มม.ปรอท
- โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 1
มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดง ขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ระหว่าง 140-159 มม.ปรอท หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดง ในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 90-99 มม.ปรอท
- โรคความดันโลหิตสูงระดับที่ 2
มีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัวอยู่ที่ 160 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น หรือมีค่าความดันที่หลอดเลือดแดงในช่วงระหว่างการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 100 มม.ปรอท หรือมากกว่านั้น
เนื่องจากระดับความดันโลหิตค่อนข้างขึ้น ๆ ลง ๆ การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้น จึงขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยของการอ่านค่าความดันโลหิตตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป โดยใช้วิธีวัดแบบเดียวกันในเวลาต่างกัน ปกติแล้วควรวัดค่าความดันโลหิตที่แขนทั้งสองข้างเพื่อดูว่ามีความแตกต่างหรือไม่ คุณหมออาจขอให้คุณจดบันทึกค่าระดับความดันโลหิตของคุณที่ตรวจวัดที่บ้าน และที่ทำงาน เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมด้วย
การรักษาความดันโลหิตสูงขั้นต้น
ภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นถือเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ขึ้นอยู่กับค่าความดันโลหิตของคุณ และปัจจัยเสี่ยงสำหรับโรคหัวใจ คุณอาจจำเป็นต้องได่รับยาบางชนิดที่เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพคุณ พร้อมปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์บางอย่างตามคำแนะนำในลำดับถัดไป เพื่อให้สามารถควบคุมภาวะนี้ได้ดีขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองเพื่อป้องกันและรักษาความดันโลหิตสูงขั้นต้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลองรับประทานอาหารต้านโรคความดันโลหิตสูง (DASH diet) เลือกรับประทานผลไม้ ผัก ธัญพืช สัตว์ปีก ปลา และนมไขมันต่ำ บริโภคโพแทสเซียมให้มาก เพื่อช่วยเรื่องการลดความดันโลหิตได้ และรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ให้น้อยลง
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี คุณควรรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีอยู่เสมอ หากมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เพราะจะสามารถลดระดับความดันโลหิต และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขั้นต้นได้ถึง 20%
- ลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง สามารถเพิ่มความดันโลหิตได้ ในขณะที่อาหารที่มีโซเดียมต่ำ สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ คุณจึงควรบริโภคเกลือและโซเดียมให้น้อยลง ด้วยการไม่เติมเกลือเพิ่มในอาหาร ระวังปริมาณเกลือในอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารแช่แข็ง เป็นต้น โดยปริมาณที่แนะนำคือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน (เกลือประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำช่วยลดระดับความดันโลหิต ควบคุมความเครียด ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ และช่วยให้คุณสามารถควบคุมน้ำหนักได้ด้วย สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี โดยทั่วไปแนะนำให้ออกกำลังกายแบบปานกลาง (moderate aerobic activity) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
- จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี ผู้หญิงทุกช่วงอายุ และผู้ชายที่อายุมากกว่า 65 ปี ควรดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน ผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 65 ปี ควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน โดยปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1 แก้วในทีนี้เทียบเท่ากับเบียร์ 12 ออนซ์ ไวน์ 5 ออนซ์ หรือสุรา 80 พรูฟ (40 ดีกรี) 1.5 ออนซ์
- อย่าสูบบุหรี่ บุหรี่สามารถทำให้ผนังหลอดเลือดเสียหาย และเพิ่มความเร็วในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว หากไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ก็สามารถขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติมร่วมด้วยได้
- จัดการกับความเครียด พยายามลดความเครียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลองทำเทคนิคการจัดการกับสุขภาพ เช่น การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หายใจเข้าลึก ๆ หรือใช้ยา การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับให้เพียงพอ ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน
- ตรวจวัดค่าความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้คุณทราบค่าความดันโลหิตของคุณ และแจ้งให้หมอทราบ หากค่าความดันของคุณนั้นเพิ่มสูงขึ้น โดยคุณสามารถคอยจับตาดูค่าความดันโลหิตของคุณได้ในช่วงระหว่างที่ไม่ได้ไปพบหมอ ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบใช้ด้วยตนเองที่บ้าน
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
[embed-health-tool-heart-rate]