backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

อาการเตือนโรคหัวใจ แบบไหนควรไปพบคุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

อาการเตือนโรคหัวใจ แบบไหนควรไปพบคุณหมอ

โรคหัวใจแบ่งได้เป็นหลายประเภทตามสาเหตุและตำแหน่งที่เกิด ซึ่งโรคหัวใจแต่ละประเภทมักจะมีอาการที่คล้ายคลึงกัน โดยลักษณะ อาการเตือนโรคหัวใจ ที่พบบ่อยได้แก่ อาการแน่นหน้าอก ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจไม่เต็มอิ่ม วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย เหงื่อออกเยอะ เหนื่อยง่าย หากสังเกตอาการเตือนโรคหัวใจได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และไปพบคุณหมอโดยเร็วจะช่วยให้รักษาและหาวิธีดูแลตนเองได้อย่างทันท่วงที

อาการเตือนโรคหัวใจ เป็นแบบไหน

อาการเตือนโรคหัวใจ แบ่งออกตามประเภทของโรคได้ ดังนี้

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)

เกิดจากเส้นเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบตัน ซึ่งอาจเกิดจากไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจมากเกินไปจนทำให้เลือดที่มีสารอาหารและออกซิเจนไม่สามารถไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงยังหัวใจได้ตามปกติ

อาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคหลอดเลือดหัวใจคืออาการแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอกซึ่งอาจสับสนกับอาการอาหารไม่ย่อยหรือกรดไหลย้อนได้ นอกจากนี้ อาจรู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บบริเวณไหล่ แขน คอ ลำคอ กราม หรือหลัง และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • หายใจถี่รัว
  • หัวใจสั่น
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • วิงเวียนศีรษะหรืออ่อนแรง
  • คลื่นไส้
  • เหงื่อออกมาก

โรคหัวใจวาย (Heart Attack)

โรคหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเกิดขึ้นเมื่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง มักเกิดจากไขมัน คอเลสเตอรอล และสารอื่น ๆ เข้าไปสะสมจนเกิดการอุดตันบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ

อาการที่พบบ่อย คือ แน่นหน้าอกเป็นเวลานานประมาณ 30 นาที จากนั้นค่อย ๆ หายไปแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งเป็นอาการหลักที่มักพบในผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงอาจมีอาการที่ไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณหน้าอกหรือหัวใจ เช่น อาการหายใจถี่รัว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บกรามหรือหลัง เหงื่อออก ตัวเย็น หน้ามืด อ่อนเพลีย

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ หัวใจซึ่งอาจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือมีจังหวะที่ผิดปกติ

อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือผิดปกติ มักมีดังนี้

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น
  • หัวใจเต้นรัว
  • วิงเวียนศีรษะหรือรู้สึกหวิว ๆ
  • เป็นลม
  • หายใจถี่รัวและหายใจไม่อิ่ม
  • รู้สึกไม่สบายบริเวณหน้าอก
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) 

ภาวะนี้เป็นลักษณะของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่พบมากที่สุด เกิดขึ้นเมื่อหัวใจห้องบนไม่สามารถดันเลือดลงมาที่หัวใจห้องล่างได้ตามปกติ และมักทำให้อัตราการเต้นของหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ บางรายอาจไม่มีอาการเป็นที่สังเกต ในขณะที่บางรายอาจมีอาการต่อไปนี้

  • ใจสั่น
  • ไม่มีพลังงาน
  • วิงเวียนศีรษะ
  • แน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
  • หายใจถี่รัว หายใจลำบากขณะทำกิจกรรมทั่วไป

โรคลิ้นหัวใจ (Heart Valve Disease) 

โรคลิ้นหัวใจคือโรคที่ลิ้นหัวใจส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของแต่ละห้องหัวใจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาจมีได้ทั้งอาการลิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่ว บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยแม้ว่าจะอยู่ในขั้นที่ร้ายแรงก็ตาม

อาการโรคลิ้นหัวใจ อาจมีดังนี้

  • แน่นหน้าอก รู้สึกว่ามีแรงกดในอกขณะทำกิจวัตรประจำวันหรือเมื่ออยู่ในบริเวณอากาศเย็น
  • วิงเวียนศีรษะ
  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
  • ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นรัว
  • หายใจถี่รัว ไม่เต็มอิ่ม อาจรู้สึกเมื่อทำกิจวัตรประจำวันหรือเมื่อนอนหงาย

หากโรคลิ้นหัวใจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อาจมีอาการต่อไปนี้

  • บวมตามข้อหรือเท้า หรือท้องบวม หรือรู้สึกว่าท้องอืดแน่นเฟ้อ
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มักเกิดขึ้นเนื่องจากหัวใจอ่อนแอหรือเกิดภาวะหัวใจแข็ง อาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ที่บ่งชี้ถึงโรคหัวใจ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หัวใจอาจเสียหายอย่างรุนแรงซึ่งไปเป็นในลักษณะคล้ายกับโรคลิ้นหัวใจ

ตัวอย่างอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น

  • หายใจลำบากหรือไม่อิ่มขณะทำกิจกรรม หรือขณะนอนหงาย
  • ไอปนเสมหะสีขาว
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • อาการบวมที่ข้อ ขา หรือท้อง
  • วิงเวียนศีรษะ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • ใจสั่น เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) 

โรคนี้เป็นความพิการแต่กำเนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักส่งผลต่อโครงสร้างและระบบการทำงานของหัวใจ คุณหมออาจวินิจฉัยพบโรคนี้ได้ในหลายช่วง ทั้งตั้งแต่ก่อนกำเนิด หลังคลอดไม่นาน ในช่วงวัยเด็ก หรือกระทั่งในวัยผู้ใหญ่ บางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติให้เห็นเลย อาการเตือนโรคหัวใจประเภทนี้ แตกต่างกันออกไป ดังนี้

อาการในทารกและเด็ก

  • ผิวหนัง เล็บมือ และริมฝีปากเป็นสีน้ำเงิน
  • หายใจเร็ว
  • ดูดนมได้น้อย ป้อนอาหารลำบาก
  • เป็นหวัดง่าย ติดเชื้อในปอดบ่อย
  • ออกกำลังกายไม่ได้ เหนื่อยง่าย

อาการในผู้ใหญ่

  • หายใจถี่รัว
  • ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่าย
  • มีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวและโรคลิ้นหัวใจ เช่น ตาบวม ข้อบวม ท้องบวม วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หัวใจเต้นเร็ว

โรคกล้ามเนื้อหัวใจ (Heart Muscle Disease หรือ Cardiomyopathy)

เป็นโรคหัวใจประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อหัวใจขยายใหญ่ หนาตัวหรือแข็งตัวผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดลดลง และมักนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและการคั่งของเลือดในปอดหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจมักมีดังนี้

  • เจ็บหน้าอกเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทั่ว ๆ ไป เช่น ยกของ หรืออาจเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร

    ขาส่วนล่างบวม

  • อ่อนเพลีย
  • เป็นลม
  • ใจสั่น

โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)

เยื่อหุ้มหัวใจเป็นเนื้อเยื่อคล้ายถุงบาง ๆ ที่อยู่รอบหัวใจ เมื่อเกิดการอักเสบซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส จะทำให้มีของเหลวหรือหนองในเยื่อหุ้มหัวใจ โดยทั่วไป โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบมักไม่รุนแรงและหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา

อาการโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อาจมีดังนี้

  • เจ็บหน้าอกแปลบ ๆ อาการปวดอาจร้าวไปถึงคอ รวมไปถึงแขนและหลัง อาการอาจแย่ลงเมื่อนอนหงาย
  • มีไข้ต่ำ ๆ
  • อ่อนแรง
  • ใจสั่น
  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น

อาการแบบไหนควรไปพบคุณหมอ

ผู้ที่มีอาการเตือนโรคหัวใจดังต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมโดยเร็ว

  • รู้สึกถึงความแน่นในช่องท้องร่วมกับรู้สึกเบื่ออาหารหรือคลื่นไส้
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หรือไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
  • ติดเชื้อในทางเดินหายใจหรืออาการไอแย่ลงเรื่อย ๆ
  • หัวใจเต้นเร็ว (มากกว่า 100 ครั้ง/นาที)
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • หายใจลำบากระหว่างทำกิจกรรมตามปกติในชีวิตประจำหรือขณะกำลังนอนพักผ่อน
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น ใช้เวลานานกว่าจะหลับ รู้สึกว่าต้องนอนมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ
  • กระสับกระส่าย วิตกกังวล หรือสับสน
  • วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดบ่อยครั้ง
  • คลื่นไส้หรือเบื่ออาหาร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 06/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา