ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)
ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หมายถึง การที่ไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกาย โดยเป็นผลมาจากหลายปัจจัย เช่น การใช้ยาลิเทียม (Lithium) การฉายรังสีบริเวณศีรษะหรือคอเพื่อรักษามะเร็ง การผ่าตัดไทรอยด์ออกจากร่างกาย การเป็นโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto’s Thyroiditis)
โดยทั่วไป ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มักพบในหญิงวัยกลางคนหรือวัยชรา และมักมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่มีแรง
- ร่างกายไวต่อความเย็น
- ท้องผูก
- ผิวแห้ง
- น้ำหนักขึ้น
- หน้าบวม
- คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
- ข้อต่อเจ็บ แข็ง หรือบวม
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- ผมบางลง
- ซึมเศร้า
- คอพอก
ทั้งนี้ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์อาจเป็นสาเหตุของภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ หากพบทารกแรกเกิดเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แล้วไม่รีบรักษา จะส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาที่ผิดปกติ เช่น แคระแกร็น ฟันขึ้นช้า พัฒนาการทางสมองช้า ทั้งนี้ ทารกแรกเกิดควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ทันทีภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด หากพบอาการผิดปกติจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
-
มะเร็งไทรอยด์
มะเร็งไทรอยด์เป็นความผิดปกติของไทรอยด์ที่พบได้ไม่บ่อย หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของเนื้องอกทั้งหมดที่พบบริเวณไทรอยด์
ปกติแล้ว มะเร็งไทรอยด์ในระยะแรกเริ่มจะไม่แสดงอาการใด ๆ จนเมื่อมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะสัมผัสได้ถึงเนื้องอกบริเวณลำคอ ซึ่งมักทำให้รู้สึกคับแน่นเมื่อสวมเสื้อมีปกหรือเสื้อที่ต้องติดกระดุมบริเวณลำคอ
นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ได้แก่ เสียงแหบ กลืนอาหารหรือน้ำลายลำบาก ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม
ทั้งนี้ มะเร็งไทรอยด์มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อายุระหว่าง 25-65 ปี นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่
- ผู้ที่มีประวัติถูกฉายรังสีขณะเป็นทารกหรือเป็นเด็ก
- ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นคอพอก
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
วิธีดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ เกี่ยวกับ ไทรอยด์
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์สามารถทำได้ดังนี้
- งดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่มีคุณสมบัติทำให้ระดับฮอร์โมนไธรอกซินในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และยังลดฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์จากต่อมใต้สมอง
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารซีลีเนียม (Selenium) เช่น อาหารทะเล เครื่องในสัตว์ เนื่องจากธาตุซีลีเนียมจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนไธรอกซินและไธไอโอโดไธโรนีน รวมถึงมีคุณสมบัติช่วยปกป้องต่อมไทรอยด์ไม่ให้เสียหายจากภาวะเครียดออกซิเดชัน
- รับประทานไอโอดีนในปริมาณที่เหมาะสม หรือ 140 ไมโครกรัม/วัน โดยอาหารที่มีไอโอดีนอยู่มาก เช่น อาหารทะเล นม โยเกิร์ต ไข่
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างเบอร์รี่และผักต่าง ๆ เช่น บลูเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่ ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง พริกหวาน คะน้า
- เข้ารับการตรวจสุขภาพต่อมไทรอยด์เป็นประจำทุกปี
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย