backup og meta

diabetes insipidus (โรคเบาจืด) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

diabetes insipidus (โรคเบาจืด) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

diabetes insipidus หรือ โรคเบาจืด เป็นโรคที่พบได้ยาก เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ ซึ่งมีผลมาจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone หรือ ADH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากเกินไป อาจทำให้มีอาการกระหายน้ำมาก ปากแห้ง อ่อนเพลีย ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้ง จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

คำจำกัดความ

diabetes insipidus คืออะไร

diabetes insipidus หรือ โรคเบาจืด คือ โรคที่ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากเกินไป โดยอาจปัสสาวะมากถึง 20 ลิตร/วัน ซึ่งผู้ที่มีร่างกายปกติจะปัสสาวะเฉลี่ยเพียง 1-2 ลิตร/วัน เท่านั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาจืดจึงปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้ง เนื่องจากมีอาการกระหายน้ำตลอดเวลาและดื่มน้ำมากขึ้น หรือเรียกว่า ภาวะดื่มน้ำมากผิดปกติ (Polydipsia)

โรคเบาจืดไม่เหมือนกับโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีอาการกระหายน้ำมากและมีการปัสสาวะมากขึ้นเหมือนกัน แต่โรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปและไตจะพยายามขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ส่วนโรคเบาจืดจะมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ แต่ไตมีความผิดปกติที่ไม่สามารถขับปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม

อาการ

อาการของ diabetes insipidus

อาการของโรคเบาจืดอาจสังเกตได้ ดังนี้

  • กระหายน้ำและต้องการดื่มน้ำมากขึ้น
  • ปวดปัสสาวะมากขึ้น ประมาณ 20 ลิตร/วัน และปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
  • ปัสสาวะมีสีซีด
  • ปวดกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หมดสติ

อาการของโรคเบาจืดในทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีดังนี้

  • ปัสสาวะรดผ้าอ้อมและที่นอน
  • นอนหลับยาก
  • มีไข้ อาเจียน น้ำหนักลดลง
  • ท้องผูก
  • การเจริญเติบโตล่าช้า

หากมีอาการปัสสาวะมากเกินไปและกระหายน้ำผิดปกติควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ

สาเหตุ

สาเหตุของ diabetes insipidus

โรคเบาจืดมีสาเหตุมาจากร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลของระดับของเหลวได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone หรือ ADH) ที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะ โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะผลิตจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และเก็บไว้ในต่อมใต้สมอง ภาวะนี้จะทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกหรือขัดขวางการทำงานของฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดการผลิตปัสสาวะมากเกินไป สาเหตุความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาจืด ดังนี้

  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) เกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัสเนื่องจากการผ่าตัด เนื้องอก อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือความเจ็บป่วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการผลิตฮอร์โมน การจัดเก็บและการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก นอกจากนี้ ความผิดปกตินี้อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่สืบทอดกันมาได้เช่นกัน
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เกิดจากการที่ไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเธียม (Lithium) ยาต้านไวรัสกรดฟอสโฟโนเมทาโนอิก (Foscarnet)
  • โรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Insipidus) เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้น้อย อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากเอนไซม์ที่ผลิตจากรกทำลายฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการดื่มน้ำ (Primary Polydipsia) เป็นภาวะทางจิตที่อาจทำให้เกิดการผลิตปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากการดื่มของเหลวในปริมาณมากเกินไป อาจก่อให้เกิดจากความเสียหายต่อกลไกการควบคุมความกระหายของเหลวในร่างกาย

ในบางกรณีอาจไม่มีสาเหตุของโรคเบาจืดที่ชัดเจนหรืออาจมีความผิดปกติที่เกิดจากภาวะภูมิต้านทานตนเองที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์สำหรับสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ diabetes insipidus

โรคเบาจืดอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

  • โรคเบาจืดมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่สร้างความผิดปกติให้กับไต ทำให้ปัสสาวะมากเกินไป
  • เคยผ่าตัดสมองหรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน
  • การรับประทานยาที่ก่อให้เกิดปัญหาไตหรือโรคไบโพลาร์บางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มลิเทียม (Lithium Carbonate) อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)
  • ความผิดปกติของการเผาผลาญที่ส่งผลให้แคลเซียมในเลือดสูงหรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนของ diabetes insipidus

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคเบาจืด คือ ภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป อาจทำให้มีอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ เป็นลม สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่อาการชัก เนื่องจากสมองถูกทำลายอย่างถาวรและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรพบคุณหมอทันที หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ เซื่องซึมและเหนื่อยล้ามาก

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย diabetes insipidus

การวินิจฉัยโรคเบาจืดอาจทำได้ ดังนี้

  • การทดสอบภาวะขาดน้ำ คุณหมออาจให้หยุดดื่มของเหลวเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะ ความเข้มข้นของปัสสาวะและเลือด จากนั้นคุณหมออาจวัดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เพื่อดูความเพียงพอของปริมาณฮอร์โมนในร่างกายและการตอบสนองของไตต่อฮอร์โมน
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตรวจหาความผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง
  • การตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะมากเกินไป

การรักษา diabetes insipidus

การรักษาโรคเบาจืดอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ดังนี้

  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคเบาจืดเพียงเล็กน้อย คุณหมออาจให้ควบคุมปริมาณปัสสาวะด้วยการให้เพิ่มการดื่มน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะมากเกินไป แต่หากผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางจิต อาจจำเป็นต้องลดปริมาณการดื่มน้ำลงร่วมกับการรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วย แต่หากเกิดจากความผิดปกติภายในต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส คุณหมออาจเริ่มรักษาจากสาเหตุของความผิดปกติก่อน จากนั้น คุณหมออาจสั่งยาเพิ่มเพื่อควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เช่น ฮอร์โมนสังเคราะห์เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) คลอโพรพาไมด์ (Chlorpropamide)
  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต คุณหมออาจให้รับประทานอาหารที่มีเกลือน้อยเพื่อลดปริมาณการขับเกลือออกทางปัสสาวะ และต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ จากนั้นอาจรักษาด้วยยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เพื่อช่วยควบคุมการปัสสาวะ
  • การรักษาโรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ อาจรักษาด้วยการใช้เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดปริมาณการขับปัสสาวะ
  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการดื่มน้ำ อาจไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่อาจควบคุมด้วยการลดปริมาณการดื่มของเหลว แต่หากเกิดจากภาวะทางจิต คุณหมออาจต้องรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ diabetes insipidus

โรคเบาจืดเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนจึงอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจดูแลตัวเองได้โดยการปรับพฤติกรรม ดังนี้

  • ป้องกันการสูญเสียน้ำและภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาจืดมีอาการขับปัสสาวะปริมาณมากจนอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เนื่องจากอาหารที่มีเกลือมากจะส่งผลให้ร่างกายขับเกลือออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
  • ใช้ยาตามคุณหมอสั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะโรคเบาจืดจำเป็นต้องควบคุมอาการของโรคด้วยยา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overview-Diabetes insipidus. https://www.nhs.uk/conditions/diabetes-insipidus/. Accessed April 15, 2022

Diabetes Insipidus. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/diabetes-insipidus. Accessed April 15, 2022

Diabetes Insipidus. https://www.webmd.com/diabetes/guide/what-is-diabetes-insipidus. Accessed April 15, 2022

Diabetes insipidus- Diagnosis- Treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes-insipidus/diagnosis-treatment/drc-20351274. Accessed April 15, 2022

Diabetes insipidus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes-insipidus/symptoms-causes/syc-20351269#:~:text=Diabetes%20insipidus%20(die%2Duh%2D,you%20have%20something%20to%20drink. Accessed April 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลเทียม คนเป็นเบาหวานกินได้หรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

กาแฟมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา