ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของ diabetes insipidus
โรคเบาจืดอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
- โรคเบาจืดมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่สร้างความผิดปกติให้กับไต ทำให้ปัสสาวะมากเกินไป
- เคยผ่าตัดสมองหรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน
- การรับประทานยาที่ก่อให้เกิดปัญหาไตหรือโรคไบโพลาร์บางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มลิเทียม (Lithium Carbonate) อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)
- ความผิดปกติของการเผาผลาญที่ส่งผลให้แคลเซียมในเลือดสูงหรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
ภาวะแทรกซ้อนของ diabetes insipidus
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคเบาจืด คือ ภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป อาจทำให้มีอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ เป็นลม สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่อาการชัก เนื่องจากสมองถูกทำลายอย่างถาวรและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรพบคุณหมอทันที หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ เซื่องซึมและเหนื่อยล้ามาก
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย diabetes insipidus
การวินิจฉัยโรคเบาจืดอาจทำได้ ดังนี้
- การทดสอบภาวะขาดน้ำ คุณหมออาจให้หยุดดื่มของเหลวเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะ ความเข้มข้นของปัสสาวะและเลือด จากนั้นคุณหมออาจวัดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เพื่อดูความเพียงพอของปริมาณฮอร์โมนในร่างกายและการตอบสนองของไตต่อฮอร์โมน
- การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตรวจหาความผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง
- การตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะมากเกินไป
การรักษา diabetes insipidus
การรักษาโรคเบาจืดอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ดังนี้
- การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคเบาจืดเพียงเล็กน้อย คุณหมออาจให้ควบคุมปริมาณปัสสาวะด้วยการให้เพิ่มการดื่มน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะมากเกินไป แต่หากผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางจิต อาจจำเป็นต้องลดปริมาณการดื่มน้ำลงร่วมกับการรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วย แต่หากเกิดจากความผิดปกติภายในต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส คุณหมออาจเริ่มรักษาจากสาเหตุของความผิดปกติก่อน จากนั้น คุณหมออาจสั่งยาเพิ่มเพื่อควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เช่น ฮอร์โมนสังเคราะห์เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) คลอโพรพาไมด์ (Chlorpropamide)
- การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต คุณหมออาจให้รับประทานอาหารที่มีเกลือน้อยเพื่อลดปริมาณการขับเกลือออกทางปัสสาวะ และต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ จากนั้นอาจรักษาด้วยยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เพื่อช่วยควบคุมการปัสสาวะ
- การรักษาโรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ อาจรักษาด้วยการใช้เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดปริมาณการขับปัสสาวะ
- การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการดื่มน้ำ อาจไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่อาจควบคุมด้วยการลดปริมาณการดื่มของเหลว แต่หากเกิดจากภาวะทางจิต คุณหมออาจต้องรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย