backup og meta

ท้องผูกในผู้สูงอายุ สามารถแก้ไขได้อย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 04/10/2021

    ท้องผูกในผู้สูงอายุ สามารถแก้ไขได้อย่างไร

    เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหารอาจเริ่มมีปัญหา ทำให้อาจส่งผลต่อระบบขับถ่าย ท้องผูกในผู้สูงอายุ อาจสร้างความยากลำบาก ไม่สบายตัวให้กับผู้สูงอายุ อาจถ่ายอุจจาระโดยใช้เวลามากกว่าปกติ อุจจาระอาจมีลักษณะแข็ง แห้ง และก้อนเล็ก รวมถึงถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

    อาการท้องผูกในผู้สูงอายุ

    เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ระบบเผาผลาญ ระบบย่อยอาหารของผู้สูงอายุอาจมีปัญหา ส่งผลให้ผู้สูงอายุท้องผูก โดยอาจถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ใช้เวลาในการถ่ายนานกว่าปกติ ลักษณะของอุจจาระเป็นก้อนเล็ก แข็ง และแห้ง รวมถึงรู้สึกเหมือนยังถ่ายไม่เสร็จ

    สาเหตุของท้องผูกในผู้สูงอายุ  

    สาเหตุของท้องผูกในผู้สูงอายุ อาจมีหลายปัจจัยดังต่อไปนี้ 

    • รับประทานอาหารที่มีใยอาหาร หรือไฟเบอร์น้อย ทำให้ลำไส้ไม่มีตัวกระตุ้นช่วยทำให้ขับถ่าย
    • ดื่มน้ำไม่เพียงพอในแต่ละวัน ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร เนื่องจากขาดการกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ และอาจทำให้ไม่สามารถขับอุจจาระออกมาได้ เพราะอุจจาระอาจแห้งเกินไป
    • ความเครียด อาจทำให้ลำไส้หยุดบีบตัวชั่วคราว 
    • ผู้สูงอายุอาจรับประทานยาเยอะ เช่น ยาคลายเครียด ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาแก้ความดันสูง เนื่องจากยาบางชนิดมีฤทธิ์ลดการบีบไล่อาหาร ทำให้อุจจาระอัดเป็นก้อนแข็ง และเคลื่อนที่ยากจนกลายเป็นอาการท้องผูก 
    • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น ภาวะการบาดเจ็บของกระดูกและไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง
    • ลำไส้แปรปรวน ภาวะเรื้อรังของลำไส้ เป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร
    • ลำไส้อุดตัน ภาวะการบีบตัวของลำไส้ถูกรบกวนหรือมีสิ่งอุดตัน ทำให้อาหารและของเหลวไม่สามารถเคลื่อนผ่านได้ตามปกติ
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่ การอุดกั้นทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้องอก หรือเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดการตีบแคบของลำไส้

    วิธีแก้ท้องผูกในผู้สูงอายุ 

    วิธีเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกในผู้สูงอายุได้ เช่น 

  • ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากเครื่องเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำออกไปมากกว่าเดิม และอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ 
  • เพิ่มใยอาหาร หรือไฟเบอร์ให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ลำไส้สามารถกลับมาทำงานเป็นปกติ โดยผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรกินใยอาหาร 21-30 กรัมต่อวัน ไฟเบอร์มีมากในอาหารประเภทผัก ผลไม้สด ผลไม้แห้ง ธัญพืช เช่น กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ ข้าวสาลี ลูกพรุน ฝรั่ง และควรลดปริมาณอาหารที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ ชีส เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ได้ 
  • โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ โดยโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์ขนาดเล็กที่มีชีวิต สามารถพบได้ใน นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) จุลินทรีย์ไม่มีชีวิต สามารถพบได้ใน เช่น กล้วย ข้าวโอ๊ต ที่อาจช่วยในการปรับสมดุลของลำไส้ 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เช่น การเดิน วิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เนื่องจากการขยับร่างกายอาจช่วยทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหว และเพิ่มการบีบตัวของลำไส้
  • ปรับท่าในการถ่าย โดยแยกขาทั้งสองข้างออกจากกันให้กว้างกว่าส่วนสะโพก วางเท้าทั้งสองข้างบนเก้าอี้ที่สูงจากพื้นประมาณ 20 เซนติเมตร โน้มตัวไปข้างหน้า อาจช่วยให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น
  • ยาระบาย หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่สามารถบรรเทาอาการท้องผูกได้ คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานยาโดยยาระบายมีหลายชนิด เช่น 
    • กลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการขับถ่าย ทำให้ลำไส้บีบตัวเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ขับถ่าย เช่น มะขามแขก บิซาโคดิล (Bisacodyl)
    • กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ในการเพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ มีคุณสมบัติเหมือนไฟเบอร์ โดยสารเหล่านี้ดูดซับน้ำเข้าสู่ลำไส้เพื่อทำให้อุจจาระอ่อนตัว หรือนิ่ม เช่น โพลีคาร์โบฟิล (Polycarbophil) เมธิลเซลูโลส (Methylcellulose)
    • กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ทำให้อุจจาระนิ่ม มีฤทธิ์ช่วยทำให้อุจจาระนิ่มและเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น เช่น ด็อกคูเสทโซเดียม (Docusate Sodium)

    ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาระบายนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยไม่ได้ปรึกษาคุณหมอ เพราะหากยาระบายใช้ไปนาน ๆ อาจดื้อยา และอาการท้องผูกอาจแย่ลงได้ 

    • การผ่าตัด คุณหมออาจแนะนำการผ่าตัด หากท้องผูกเกิดจากปัญหาลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ตีบ ไส้ตรงปลิ้นการผ่าตัดถือเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ปัญหาท้องผูกเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่เกิดผล

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 04/10/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา