การเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน หรือการดูโทรทัศน์ก่อนนอนจนหลับไป รวมถึงแสงไฟในห้องนอนหรือจากนอกหน้าต่าง ต่างก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เจอแสงมากเกินไปในเวลากลางคืน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า มีงานวิจัยชี้ว่าการได้รับ แสงไฟตอนกลางคืน มากเกินไป อาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณได้ ทาง Hello คุณหมอ ได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญมาฝากกันในบทความนี้
แสงไฟตอนกลางคืน ส่งผลต่อสุขภาพของคุณอย่างไร
หากร่างกายได้รับแสงไฟในตอนกลางคืน สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้มากมาย ดังนี้
1. แสงไฟตอนกลางคืน อาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพ
ผลการศึกษาเบื้องต้นจากงานวิจัยพบว่า หากร่างกายได้รับแสงไฟในช่วงระหว่างนอนหลับ อาจส่งผลต่อเมตาบอลิกฟังก์ชั่น (Metabolic function) โดยงานวิจัยได้ศึกษาอิทธิพลจากแสงไฟตอนกลางคืน ต่อเมตาบอลิกฟังก์ชั่นและการตอบสนองของฮอร์โมน ในกลุ่มตัวอย่างวัยหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง ผลการวิจัยพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินจะเพิ่มสูงขึ้นขณะนอนหลับ ในช่วงเวลาที่มีแสงสว่างในตอนกลางคืน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงภาวะทนต่อน้ำตาล (Glucose Intolerance) และภาวะทนต่ออินซูลิน (Insulin Insensitivity)
ผลการวิจัยสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เช่น การทำงานกะกลางคืน มีแนวโน้มเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพในสังคมยุคใหม่ เช่น การเป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังคงต้องศึกษาต่อว่า เมลาโทนินเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเมตาบอลิกฟังก์ชั่นหรือไม่ หรือมีกระบวนการอื่นเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
2. แสงในตอนกลางคืนกับโรคซึมเศร้า
นักวิจัยให้ข้อมูลว่า การนอนหลับผิดปกติ สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า โดยงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Molecular Psychiatry เผยว่า แค่แสงสลัวๆ ในตอนกลางคืน ก็สามารถเพิ่มการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
มีงานวิจัยที่ทดลองในสัตว์พบว่า แสงสลัวในตอนกลางคืนกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า เช่น พฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงของสมอง โดยอาจเกิดจากจังหวะเวลาในรอบวัน (Circadian Rhythms) หรือที่เรียกว่านาฬิกาชีวิตถูกรบกวน หรือการยับยั้งเมลาโทนิน แต่อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นสามารถกลับมาเป็นปกติได้ เมื่อสภาพแสงกลับมาเป็นปกติ
3. แสงไฟตอนกลางคืน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง
ข้อมูลจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Chronobiology International ให้ข้อมูลว่า แสงสว่างในตอนกลางคืน เพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการพัฒนามะเร็งเต้านมได้
4. แสงไฟเวลากลางคืนส่งผลต่อรอบเดือนของผู้หญิง
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Epidemiology เผยว่า การทำงานเป็นกะ (Rotating shift work) มีแนวโน้มทำให้ร่างกายได้รับแสงไฟตอนกลางคืนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจรบกวนวงจรการมีประจำเดือนของผู้หญิง
เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยในผู้หญิงจำนวน 71,077 คน พบว่า ประมาณ 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างที่ทำงานในเวลากะกลางคืน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ในช่วงเวลา 2 ปีก่อนเข้าร่วมการวิจัย ประจำเดือนมาไม่ปกติ ผลการศึกษาพบว่ายิ่งใช้เวลาในการทำงานเป็นกะมากเท่าไหร่ วงจรการมีประจำเดือนก็ยิ่งผิดปกติมากขึ้นเท่านั้น โดยนักวิจัยคาดว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้น มาจากการเจอแสงสว่าง และวงจรการตื่นและการนอนหลับไม่เป็นระบบ ไปรบกวนระบบเจริญพันธุ์เมื่อเวลาผ่านไป
5. แสงไฟเวลากลางคืนกับความอ้วน
จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Proceedings of the National Academy of Sciences ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ศึกษาในหนูทดลอง โดยให้หนูอยู่ในแสงสลัวๆ ในตอนกลางคืนนานกว่า 8 สัปดาห์ พบว่า หนูน้ำหนักขึ้น มากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เจอแสงไฟในตอนกลางคืน นอกจากนี้นักวิจัยยังกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้น้ำหนักเกินนั้น มาจากการกินผิดปกติ ในทางกลับกัน หนูที่เจอกับแสงในเวลากลางคืน แต่ให้กินอาหารตามเวลาที่จำกัด ผลการวิจัยพบว่าหนูไม่ได้มีน้ำหนักขึ้น
วิธีลดแสงไฟตอนกลางคืน
- ปิดหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้หมด
- จำกัดแสงในเวลากลางคืน พยายามให้มีแสงไฟให้น้อยที่สุด
- สำหรับผู้ที่ทำงานเป็นกะ ควรนอนหลับในห้องนอนที่มืดสนิทที่สุด
- ถ้าคุณไม่สามารถนอนหลับในห้องที่มืดสนิทได้ และกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์
[embed-health-tool-bmi]