backup og meta

ข้ออักเสบ (Arthritis)

ข้ออักเสบ (Arthritis)

คำจำกัดความ

ข้ออักเสบ คืออะไร

ข้ออักเสบ (Arthritis) เป็นการอักเสบที่ข้อต่อ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบที่ข้อต่อข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ ประเภทของข้ออักเสบที่พบได้มากที่สุด ได้แก่ ข้อเสื่อม (osteoarthritis หรือ OA) และข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis หรือ RA)

  • ข้อเสื่อม

ข้อเสื่อมสามารถส่งผลต่อกระดูกอ่อนตามแนวข้อต่อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและเคลื่อนไหวร่างกายได้ยาก ในภาวะที่รุนแรง การสูญเสียกระดูกอ่อนสามารถทำให้กระดูกอ่อนเสียดสีกับกระดูก จนรูปร่างข้อต่อเปลี่ยนแปลงไปและดันกระดูกออกจากตำแหน่งปกติได้

ตำแหน่งที่มักเกิดข้อเสื่อม ได้แก่ ข้อต่อมือ กระดูกสันหลัง เข่า และสะโพก ข้ออักเสบประเภทนี้มักเกิดขึ้นในผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 40 ตอนปลายหรือมากกว่า

  • ข้ออักเสบรูมาตอยด์

ข้ออักเสบประเภทนี้พบมากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 และ 50 ปี เกิดจากส่วนด้านนอกที่หุ้มข้อต่อเป็นบริเวณแรกที่ได้รับผลกระทบ แล้วการอักเสบลุกลามไปยังข้อต่อโดยรอบ

หากเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์  ผู้ป่วยจะมีข้อต่อที่รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป ภาวะนี้อาจทำให้กระดูกและกระดูกอ่อนแตกได้ ที่รุนแรงกว่านั้นคือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังสามารถมีอาการผิดปกติต่างๆ ที่เนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ ได้ด้วย

ข้ออักเสบพบบ่อยแค่ไหน

ข้ออักเสบค่อนข้างพบได้ทั่วไป มักส่งผลต่อผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ ยังสามารถส่งผลต่อผู้ป่วยได้ทุกวัย แม้กระทั่งในเด็ก ข้ออักเสบในเด็กที่พบส่วนใหญ่ได้แก่ โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก (juvenile idiopathic arthritis) อย่างไรก็ดี ข้ออักเสบสามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของข้ออักเสบ

อาการทั่วไปของข้ออักเสบ ได้แก่

  • ปวดข้อต่อ แม้จะไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
  • มีอาการบวมและอาการฝืดแข็งของข้อต่อ
  • มีการอักเสบในข้อต่อและโดยรอบข้อต่อ
  • เคลื่อนไหวข้อต่อได้อย่างจำกัด
  • มีรอยแดงที่ผิวหนังโดยรอบข้อต่อ

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบหมอเมื่อใด

หากคุณมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใดๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของข้ออักเสบ

ข้ออักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่ทำหน้าที่ปกป้องกระดูกจากการเสียดสีกันเมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดการอักเสบขึ้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุของข้ออักเสบนั้นสามารถเป็นได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคข้ออักเสบ

โดยทั่วไปแล้ว ข้อเสื่อมเป็นความเสียหาย ที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนของข้อต่อ ซึ่งเป็นส่วนที่ปกคลุมปลายกระดูก ความเสียหายสามารถทำให้เกิดกระดูกแตกได้โดยตรง ทำให้เกิดอาการปวดและเคลื่อนไหวลำบาก ความเสียหายที่เกิดจากการเสื่อมสภาพนี้ อาจค่อยๆ ก่อตัวขึ้นโดยใช้เวลาหลายปี หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลันจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อของข้อต่อก็ได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของข้ออักเสบ

มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการสำหรับข้ออักเสบ หากคุณเคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อต่อมาก่อน หรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก คุณอาจเป็นข้ออักเสบเมื่อคุณอยู่ในวัยกลางคน นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนยังมีความเสี่ยงในการเกิดข้ออักเสบมากขึ้น เนื่องจากปริมาณกล้ามเนื้อ ไขมัน ของเหลว และอื่นๆ ที่เป็นส่วนเกิน ทำให้มีแรงกดที่ข้อต่อมากกว่าที่ข้อต่อจะสามารถรับได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยข้ออักเสบ

ในระหว่างการวินิจฉัย แพทย์ที่ทำการรักษาจะตรวจหาของเหลวโดยรอบข้อต่อที่อักเสบ ด้วยวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

  • การใช้รังสีระดับต่ำ เพื่อทำให้มองเห็นกระดูก การตรวจเอกซเรย์สามารถแสดงให้เห็นถึงกระดูกอ่อนเสื่อม กระดูกเสียหาย และกระดูกงอก (bone spurs) ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจเอกซเรย์ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเสียหายจากข้ออักเสบแต่เนิ่นๆ ได้ แต่มักใช้เพื่อติดตามการลุมลามของโรค
  • การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (Computerized tomography หรือซีทีสแกน) โดยการใช้รังสีเอกซเรย์จากมุมต่างๆ และรวบรวมข้อมูลเพื่อสร้างภาพถ่ายตามขวางของอวัยวะภายใน การทำซีทีสแกนสามารถทำให้มองเห็นทั้งกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนโดยรอบได้
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging หรือ MRI) ด้วยการใช้คลื่นวิดีโอกับสนามแม่เหล็กเข้มข้น การตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ สามารถสร้างภาพถ่ายแนวขวางที่มีรายละเอียดของเนื้อเยื่ออ่อน เช่น กระดูกอ่อน เส้นเอ็น เอ็นยึด ได้มากขึ้น
  • การวิเคราะห์ระดับการอักเสบในเลือดและของเหลวบริเวณข้อต่อ ก็สามารถช่วยสรุปประเภทของข้ออักเสบที่คุณเป็นอยู่ได้

การรักษาข้ออักเสบ

การรักษาโรคข้ออักเสบ มักมุ่งเน้นที่การบรรเทาหรือควบคุมอาการ ร่วมกับการพัฒนาการทำงานของข้อต่อ แพทย์อาจต้องใช้วิธีรักษาหลายอย่างรวมกัน หรือใช้วิธีรักษาไปทีละอย่าง เพื่อหาว่าวิธีไหนเหมาะสมกับคุณที่สุด

โดยอาจใช้วิธีรักษาข้ออักเสบดังต่อไปนี้

การใช้ยา

ยาที่แพทย์นิยมใช้เพื่อรักษาข้อเสื่อม ได้แก่

  • ยาแก้ปวด (Painkillers) ยาแก้ปวดสามารถลดอาการปวด แต่บรรเทาอาการอักเสบไม่ได้
  • ยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)

การบำบัด

การทำกายภาพบำบัดอาจช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบบางประเภทได้ นักกายภาพบำบัดมักแนะนำให้คุณออกกำลังกายร่วมด้วย เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อต่อ และทำให้คุณเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในบางกรณี อาจต้องใช้แผ่นดาม หรือเฝือกด้วย

การผ่าตัด

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ (Arthroplasty) เพื่อเปลี่ยนข้อต่อด้วยข้อต่อเทียม
  • การผ่าตัดรวมข้อต่อ (Arthodesis หรือ joint fusion) ปลายกระดูกจะถูกติดเข้าด้วยกันจนกว่าอาการหายขาด และรวมกันเป็นหนึ่งเดียว
  • การผ่าตัดแต่งกระดูก (Osteotomy) ซึ่งมีการตัดและปรับแนวกระดูกใหม่

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับข้ออักเสบ

นอกเหนือจากการรักษาแล้ว การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บางประการอาจช่วยให้คุณรับมือกับโรคข้ออักเสบได้

  • การออกกำลังกายเบาๆ เป็นประจำ จะทำให้ข้อต่อของคุณยืดหยุ่นได้ การว่ายน้ำเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ป่วยข้ออักเสบ เนื่องจากไม่มีแรงกดทับที่ข้อต่อ การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ แต่คุณก็ไม่ควรหักโหมเกินไป เพราะจะทำให้อาการของข้ออักเสบแย่ลงได้
  • การรับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระต่างๆ สามารถรักษาอาการอักเสบได้ คุณจึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดข้ออักเสบ และอาการต่างๆ หากคุณเป็นข้ออักเสบอยู่แล้ว

หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Arthritis. http://www.healthline.com/health/arthritis#Overview1. Accessed July 20, 2016.

Arthritis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/arthritis/symptoms-causes/dxc-20168905. Accessed July 20, 2016.

Arthritis. http://www.nhs.uk/conditions/arthritis/Pages/Introduction.aspx. Accessed July 20, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

การออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยข้ออักเสบ แบบไหนถึงจะเหมาะสม

8 อาหารต้านข้ออักเสบ ที่อาจช่วยคุณป้องกันโรคนี้ได้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ธีรวิทย์ บุญราศรี · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา