backup og meta

กาแฟ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภคที่ควรรู้

กาแฟ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภคที่ควรรู้

กาแฟ เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ในกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกายอีกมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน การบริโภคกาแฟมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

[embed-health-tool-bmr]

กาแฟ คืออะไร

กาแฟ คือเครื่องดื่มที่ได้จากการชงเมล็ดกาแฟคั่วกับน้ำ ซึ่งมีอยู่มากมายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับวิธีการชงและส่วนผสม กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมทั่วโลก โดยทั่วไป คนมักนิยมดื่มกาแฟเพื่อหวังผลการกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัวจากคาเฟอีน อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจดื่มกาแฟเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ เช่น ชื่นชอบในรสชาติ หรือหวังผลเพื่อสุขภาพอื่น ๆ

คุณค่าทางโภชนาการของกาแฟ

กาแฟดำ 1 แก้ว (30 กรัม) อาจมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

  • พลังงาน 2.7 กิโลแคลอรี่
  • คาเฟอีน 64 มก.
  • โพแทสเซียม 35 มก.
  • แมกนีเซียม 24 มก.
  • โซเดียม 4.2 มก.
  • ฟอสฟอรัส 2 มก.
  • ไนอาซิน 1.5 มก.

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ วิธีการเตรียมเมล็ดกาแฟ ตลอดจนถึงการชงกาแฟ อาจส่งผลกระทบต่อคุณค่าทางโภชนาการของกาแฟได้

ประโยชน์ของกาแฟ

ช่วยเผาผลาญไขมัน

คาเฟอีน เป็นหนึ่งในสารธรรมชาติไม่กี่ชนิด ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า อาจสามารถช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายได้ โดยผลการศึกษาวิจัยหลาย ๆ ชิ้นต่างยืนยันว่า คาเฟอีนสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญมากขึ้นได้ ตั้งแต่ร้อยละ 3 ถึง 11 โดยในคนที่เป็นโรคอ้วนอาจสามารถช่วยเผาผลาญได้มากถึงร้อยละ 10 ส่วนในคนผอมอาจจะเผาผลาญได้ถึงร้อยละ 29 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจไม่ได้รับผลแบบนี้

ช่วยกระตุ้นความสามารถทางร่างกาย

คาเฟอีนสามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาท ทำให้ระบบประสาทตื่นตัว และสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ คาเฟอีนยังอาจช่วยกระตุ้นการส่งสัญญาณไปที่เซลล์ไขมันเพื่อให้ทำการแตกตัว และกลายเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อเป็นพลังงานให้กับร่างกาย มีรายงานว่า การดื่มกาแฟก่อนออกกำลังกายอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง อาจสามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกายโดยเฉลี่ยได้ร้อยละ 11-12 

ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสุขภาพ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก แต่งานมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานลดลง โดยงานวิจัยหนึ่งที่ทำการศึกษาในกลุ่มทดลองมากกว่า 457,922 ราย พบว่า การดื่มกาแฟดำวันละถ้วย อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 7 

ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่พบได้บ่อย และมักจะนำไปสู่สภาวะสมองเสื่อมกับคนทั่วโลก ซึ่งโดยปกติจะเกิดกับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มกาแฟอาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้มากถึงร้อยละ 65 เนื่องจากสารคาเฟอีนในกาแฟมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นเซลล์สมอง หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสม จึงอาจสามารถช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์กระสมอง และช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมองได้

ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยรองจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเกิดจากเซลล์ประสาทในสมอง ที่ทำหน้าที่ผลิตสารโดพามีนเกิดตายลง มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสันน้อยลง ร้อยละ 32-60 นอกจากนี้ คาเฟอีนยังอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ทำให้อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคพาร์กินสันได้อีกด้วย

ช่วยต่อสู้กับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตชนิดรุนแรง ที่ทำให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตแบบที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2011 นั้น แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ดื่มกาแฟมากกว่า 4 ถ้วยต่อวัน อาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าลดลงได้ร้อยละ 20 และงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำการทดสอบกับผู้คนจำนวน 208,424 คน พบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่า 4 ถ้วยต่อวัน อาจมีความเสี่ยงจะฆ่าตัวตายน้อยลงถึงร้อยละ 53

ช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิด

โรคมะเร็งเป็นอีกโรคหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกอันเนื่องมาจากการที่เซลล์ในร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติ แต่มีการรายงานว่ากาแฟสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ 2 ชนิด นั่นก็คือมะเร็งตับกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่าคนที่ดื่มกาแฟ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งตับลดลงได้มากถึงร้อยละ 40 แลในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำการทดสอบกับผู้คนจำนวน 489,706 คน พบว่าคนที่ดื่มกาแฟวันละ 4-5 ถ้วย จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ร้อยละ 15

ข้อควรระวังในการดื่มกาแฟ

แม้ว่าการดื่มกาแฟอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การดื่มกาแฟมากเกินไป อาจส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้ เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

  • โรควิตกกังวล การบริโภคกาแฟอาจส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโรควิตกกังวลได้ เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟนั้นออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพิ่มความตื่นตัวของร่างกาย จึงอาจทำให้อาการของโรควิตกกังวลรุนแรงขึ้นได้ ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลจึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูงอย่างกาแฟ ชา เป็นต้น
  • นอนไม่หลับ การดื่มกาแฟมากเกินไป หรือการดื่มกาแฟในช่วงใกล้เวลานอน อาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้ เนื่องจากกาแฟมีฤทธิ์ทำให้ตื่นตัว ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟใกล้กับเวลานอน
  • ความดันโลหิตสูง ฤทธิ์การกระตุ้นประสาทของคาเฟอีน อาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ชั่วคราว ซึ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง การดื่มกาแฟอาจทำให้อาการความดันโลหิตสูงรุนแรงขึ้นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Changes in coffee intake and subsequent risk of type 2 diabetes: three large cohorts of US men and women. https://link.springer.com/article/10.1007%2Fs00125-014-3235-7. Accessed November 3, 2021.

Coffee consumption and health: umbrella review of meta-analyses of multiple health outcomes. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5696634/. Accessed November 3, 2021.

Does caffeine intake protect from Alzheimer’s disease?. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1046/j.1468-1331.2002.00421.x. Accessed November 3, 2021.

Caffeine intake and dementia: systematic review and meta-analysis.https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20182026/. Accessed November 3, 2021.

Coffee, caffeine, and risk of depression among women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21949167/. Accessed November 3, 2021.

A prospective study of coffee drinking and suicide in women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8604958/. Accessed November 3, 2021.

Acute and long-term cardiovascular effects of coffee: implications for coronary heart disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19049813/. Accessed November 3, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/10/2022

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กาแฟ (Coffee)

กลิ่นปากจากกาแฟ มีทางแก้ ไม่ต้องเสียเซลฟ์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 25/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา