backup og meta

กำยาน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการใช้งาน

กำยาน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการใช้งาน

กำยาน เป็นยางไม้ที่ได้จากต้นกำยานซึ่งเป็นไม้ยางหอม มีสรรพคุณหลากหลาย เช่น มีฤทธิ์ในการต้านอักเสบ คลายปวดเมื่อย และอาจบรรเทาอาการหอบหืดได้ จึงนิยมนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เช่น ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันทาผิวและน้ำมันนวดตัว ผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหยกำยานเพื่อใช้ในการบำบัดด้วยกลิ่นหอม ใช้ในการผ่อนคลายความเครียด ทั้งนี้ ควรใช้กำยานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการแพ้ อาการระคายเคืองผิว

[embed-health-tool-bmi]

กำยาน คืออะไร

ยางกำยาน (Frankincense) เป็นยางหอมที่ได้จากเปลือกต้นกำยาน ซึ่งเป็นไม้หอมในสกุลบอสเวลเลีย (Boswellia) เมื่อน้ำยางที่ได้สัมผัสอากาศจะแข็งตัว ให้กลิ่นหอมและมีรสขมเล็กน้อย มักนำมาผลิตเป็นน้ำมันหอมระเหย สบู่ โลชั่น เครื่องหอม และเครื่องสำอาง ทั้งยังใช้เป็นสมุนไพรบำบัดเพื่อส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต

ประโยชน์ต่อสุขภาพของกำยาน

กำยานอุดมไปด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของกำยาน ดังนี้

อาจมีฤทธิ์ต้านอักเสบได้

กำยานมีกรดบอสเวลลิก (Boswellic acids) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดอาการบวม ช่วยกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีและกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Planta Medica เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกรดบอสเวลลิกกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง พบว่า กรดบอสเวลลิกที่พบในกำยานสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5-ไลพ็อกซิจิเนส (5-lipoxygenase) ซึ่งเป็นสารชักนำการอักเสบ และมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Disease) เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) รวมไปถึงโรคหอบหืด และมีผลข้างเคียงไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยารักษาโรคแผนปัจจุบัน

อาจลดบรรเทาอาการหอบหืดได้

สารประกอบสำคัญของกำยานมีอย่างกรดบอสเวลลิก มีหน้าที่ในการยับยั้งการสังเคราะห์ลิวโคไตรอีน (Leukotriene) ซึ่งเป็นสารตัวกลางที่ทำให้เซลล์อักเสบและนำไปสู่โรคหอบหืด การใช้กำยานจึงอาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรังอย่างโรคหอบหืดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับสารประกอบในกำยานและมะตูมที่ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด และประสิทธิภาพในการรักษาโรคในผู้ป่วยโรคหอบหืดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารเสริมที่มาจากกำยานและมะตูม ในปริมาณ 200 มิลลิกรัม พบว่า อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของกำยานมีส่วนช่วยลดการอักเสบและช่วยให้อาการหอบหืดของผู้ป่วยลดลงภายใน 14 วัน ทั้งยังช่วยลดการอักเสบของทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ดีกว่าการใช้ยาหลอกในปริมาณใกล้เคียงกัน

อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้

กำยานมีสารเทอร์ปีน (Terpenes) ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง จึงอาจช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกมะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Asian Pacific Journal of Tropical Biomedicine เมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเรื่อง สารเทอร์ปีนในกำยานที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเต้านมตาย พบว่า สารเทอร์ปีนเป็นสารต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพ มีความเป็นพิษต่อเซลล์เนื้องอกต่าง ๆ และทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ จึงอาจสรุปได้ว่า กำยานสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งเต้านมและขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในอนาคตได้ ทั้งนี้ ควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่าสามารถใช้กำยานเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งได้หรือไม่

ข้อควรระวังในการใช้งาน กำยาน

ข้อควรระวังในการใช้งานกำยาน มีดังนี้

  • หากใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนประกอบของกำยานแล้วมีอาการผิดปกติ เช่น ผดผื่น ลมพิษ หายใจลำบาก ควรหยุดใช้ทันที และรีบไปพบคุณหมอ
  • การใช้กำยานอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองได้ หากใช้แล้วผิวแห้ง คัน ผิวเป็นรอยแดง ควรหยุดใช้ทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Frankincense Essential Oil. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-frankincense-essential-oil#1. Accessed September 28, 2022.

Frankincense – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-448/frankincense. Accessed September 28, 2022.

Boswellic acids in chronic inflammatory diseases. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17024588/. Accessed September 28, 2022.

A novel herbal composition containing extracts of Boswellia serrata gum resin and Aegle marmelos fruit alleviates symptoms of asthma in a placebo controlled double-blind clinical study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29210124/. Accessed September 28, 2022.

Frankincense derived heavy terpene cocktail boosting breast cancer cell (MDA-MB-231) death in vitro. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2221169115001446. Accessed September 28, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่ น้ำมันหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการไอ ได้

น้ำมันหอมระเหยที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา