backup og meta

ถั่วเหลือง ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ถั่วเหลือง ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ถั่วเหลือง เป็นพืชล้มลุก ต้นเป็นพุ่มเตี้ย เมล็ดเป็นสีเหลือง สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้ ถั่วหมัก ถั่วเหลืองให้โปรตีนสูงและอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองดิบ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 446 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • โปรตีน 36.5 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 30.2 กรัม
  • ไขมัน 19.9 กรัม
  • โพแทสเซียม 1,800 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 704 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 280 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 277 มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม (Selenium) 17.8 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 15.7 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน 13 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ ในถั่วเหลือง ยังมีสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินอื่น ๆ เช่น โซเดียม ทองแดง แมงกานีส สังกะสี วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประโยชน์ของถั่วเหลือง ดังนี้

  1. อาจช่วยต้านมะเร็ง

ถั่วเหลืองมีสารเจนิสติน (Genistin) ซึ่งผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่ามีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคถั่วเหลืองและความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ปี พ.ศ. 2552 โดยทำการวิเคราะห์และสรุปผลจากผลงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้น ระบุว่า การบริโภคถั่วเหลือง อาจสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ลดลง เนื่องจากโปรตีนและสารพฤกษเคมีต่าง ๆ ในถั่วเหลือง มีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • ยับยั้งกระบวนการเกิดเนื้อร้าย (Tumorigenesis) ของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • หยุดยั้งการทำงานของเอนไซม์ไฟฟ์ อัลฟา รีดัคเทส (5-α reductase) ที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเซลล์เยื่อบุของต่อมลูกหมาก

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งของถั่วเหลือง อาจเกี่ยวข้องกับปริมาณและชนิดของผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง

  1. อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก

ถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่มีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และลดการสูญสลายของมวลกระดูกดังนั้น การบริโภคถั่วเหลือง จึงอาจช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้นได้

งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไอโซฟลาโวน และการสูญเสียกระดูกเนื่องจากภาวะกระดูกพรุน (Osteoporotic Bone Loss) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Food ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้ทำการศึกษางานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ได้ทำการทดลองทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง จนได้ข้อสรุปว่า ไอโซฟลาโวน อาจมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก โดยการเพิ่มความเข้มข้นของสารออสทีโอแคลซิน (Osteocalcin) ในกระดูก และกระตุ้นการทำงานของแอลคาไลน์ ฟอสฟาเทส (Alkaline Phosphatase) เอนไซม์ซึ่งช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง และเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งในการตรวจวัดความแข็งแรงของกระดูก

ทั้งนี้ ผลการศึกษามีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า กลไกและประสิทธิภาพของถั่วเหลืองต่อภาวะกระดูกพรุน ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม

  1. อาจช่วยบรรเทาอาการของหญิงวัยทอง

ในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวนซึ่งอาจมีประสิทธิภาพช่วยลดอาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงวัยทอง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไอโซฟลาโวนต่ออาการร้อนวูบวาบในผู้หญิงวัยทองที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Medicinal Food ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ทำการประเมินและวิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 277 บทความ และผลการทดลองจำนวน 19 การทดลอง พบว่า การบริโภคไอโซฟลาโวน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ถึง 12 เดือน อาจช่วยลดความถี่และผลกระทบที่รุนแรงจากอาการร้อนวูบวาบของผู้หญิงวัยทองได้อย่างมีนัยสำคัญ

  1. อาจช่วยลดน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทของโปรตีนจากถั่วเหลืองต่อโรคอ้วนที่เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Medical Sciences ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้ศึกษาบทความงานวิจัยที่ทำการทดลองทั้งในสัตว์ทดลองและผู้ที่มีโรคอ้วนหลายชิ้น จนได้ข้อสรุปที่สนับสนุนว่า การบริโภคโปรตีนถั่วเหลือง อาจช่วยลดน้ำหนักได้จากสารไอโซฟลาโวนในถั่วเหลือง ซึ่งในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยลดการสะสมของไขมันได้

ข้อควรระวังในการบริโภค ถั่วเหลือง

การบริโภคถั่วเหลือง มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

  • อาจรบกวนการดูดซึมยาไทรอยด์ฮอร์โมน
  • อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้ เนื่องจากในถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง มีโปรตีน ไกลซินิน (Glycinin) และคอนไกลซินิน (Conglycinin)
  • อาจทำให้ท้องอืดหรือท้องร่วง เนื่องจากถั่วเหลืองมีไฟเบอร์สูง การรับประทานในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการทางระบบทางเดินอาหารได้

สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคถั่วเหลืองได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากเกินไป และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Soybeans, mature seeds, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/174270/nutrients. Accessed May 20, 2022

Soy consumption and prostate cancer risk in men: a revisit of a meta-analysis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19211820/. Accessed May 20, 2022

Soy Isoflavones and Osteoporotic Bone Loss: A Review with an Emphasis on Modulation of Bone Remodeling. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4717511/. Accessed May 20, 2022

Extracted or synthesized soybean isoflavones reduce menopausal hot flash frequency and severity: systematic review and meta-analysis of randomized controlled trials. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22433977/#:~:text=Meta%2Danalysis%20revealed%20that%20ingestion,(heterogeneity%20P%20%3D%200.0003%2C%20I. Accessed May 20, 2022

Role of Dietary Soy Protein in Obesity. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1838825/. Accessed May 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/07/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา

5 อาหารที่ช่วยดีท็อกลำไส้ มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา