backup og meta

หัวไชเท้า ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

หัวไชเท้า ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

หัวไชเท้า เป็นพืชหัว อยู่ในตระกูลกะหล่ำ รูปทรงคล้ายแครอทแต่มีสีขาว อวบอ้วน และยาวกว่า คนไทยนิยมนำหัวไชเท้ามาทำแกงจืด แกงส้ม ต้มจับฉ่าย หัวไชเท้ามีคาร์โบไฮเดรตต่ำ กากใยสูง และอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี หัวไชเท้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันโลหิต

[embed-health-tool-heart-rate]

คุณค่าทางโภชนาการของ หัวไชเท้า

หัวไชเท้าปรุงแล้ว 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 38 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม
  • ไขมัน 2.63 กรัม
  • โปรตีน 0.67 กรัม
  • โพแทสเซียม 226 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 160 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 25 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.27 มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน (β-Carotene) 9 ไมโครกรัม
  • ซีลีเนียม (Selenium) 0.6 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ หัวไชเท้ายังประกอบด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ หัวไชเท้า

หัวไชเท้าอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของหัวไชเท้า ดังนี้

  1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น หัวไชเท้า มีสารประกอบกำมะถันชื่อ กลูโคซิโนเลต (Glucosinolate) เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะย่อยสลายเป็นสารไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) ซึ่งมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งกระตุ้นร่างกายให้ผลิตสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ส่งผลให้การหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น และยับยั้งการอักเสบของผนังหลอดเลือด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของกลูโคซิโนเลตต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Pharmacology ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งทำการค้นคว้างานวิจัยทั้งที่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์และทำการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า กลูโคซิโนเลตในผักตระกูลกะหล่ำ อาจช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรัง ชะลอการพัฒนาตัวเองของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากในผักตระกูลกะหล่ำอุดมไปด้วยสารกลูโคซิโนเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยควบคุมระดับไขมันหลอดเลือด และความดันเลือด อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันคุณสมบัติของหัวไชเท้าในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

  1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

หัวไชเท้ารวมถึงพืชตระกูลกะหล่ำอื่น ๆ มีสารกลูโคซิโนเลต ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดมะเร็ง โดยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง การบริโภคหัวไชเท้าจึงอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้

ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคผักตระกูลกะหล่ำและความเสี่ยงมะเร็งลำไส้  เผยแพร่ในวารสาร Official Journal of the European Society for Medical Oncology ปี พ.ศ. 2556 โดยได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 11 ชิ้น และศึกษากลุ่มอาสาสมัครจำนวน 24 รายทั้งที่เป็นมะเร็งลำไส้และไม่เป็นมะเร็งลำไส้ พบว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคผักตระกูลกะหล่ำในปริมาณสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้และมะเร็งลำไส้ใหญ่ในมนุษย์ได้

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

หัวไชเท้าเป็นผักที่อุดมไปด้วยกากใยและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำและการมีส่วนช่วยลดน้ำหนักและรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกาย เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Medicine ปี พ.ศ. 2564 โดยทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน แบ่งเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำและกลุ่มออกกำลังกาย รวมระยะเวลาทดลอง 3 สัปดาห์ พบว่า ว่า ทั้งสองกลุ่มมีระดับไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันชนิดไม่ดีลดลง ในขณะที่ค่าดัชนีน้ำตาลของกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยนี้จึงสรุปว่า การบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาจช่วยลดน้ำหนักและรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

นอกจากนั้น การศึกษาชิ้นนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ และการออกกำลังกาย มีส่วนช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือดและไขมันใต้ผิวหนังได้เช่นเดียวกัน

  1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น หัวไชเท้า กะหล่ำดอก มีสารชัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในการช่วยลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้ การรับประทานหัวไชเท้าจึงอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน

ผลการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคพืชตระกูลกะหล่ำ และผลไม้ตระกูลส้ม ต่อความเสี่ยงโรคเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Primary Care Diabetes ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยทำการวิจัยโดยการสังเกต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์บทความงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า จากกลุ่มอาสาสมัครในงานวิจัยทั้งหมดจำนวน 306,723 ราย พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 16,544 ราย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การบริโภคพืชตระกูลกะหล่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การบริโภคผลไม้ตระกูลส้ม ไม่ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

ข้อควรระวังในการบริโภค หัวไชเท้า

โดยทั่วไป หัวไชเท้า สามารถบริโภคได้โดยปราศจากอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หัวไชเท้ามีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) เช่นเดียวกับพืชตระกูลกะหล่ำอื่น ๆ ดังนั้น การบริโภคหัวไชเท้าสด จึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปยังต่อมไทรอยด์ เพื่อใช้ผลิตฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) และไตรไอโอโดไธโรนีน (Triiodothyronine) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย

ทั้งนี้ กอยโตรเจนจะมีปริมาณลดลงหลังปรุงสุก ดังนั้น ก่อนบริโภคหัวไชเท้าหรือผักอื่น ๆ ในตระกูลกะหล่ำ จึงควรปรุงให้สุกเสียก่อน

ผู้ที่มีอาการแพ้ผัก เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหัวไชเท้าเพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน

สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคหัวไชเท้าได้ตามปกติ แต่ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า หัวไชเท้าและผักในตระกูลกะหล่ำได้รับการปรุงสุกเรียบร้อยก่อนบริโภค

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/05/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปากนกกระจอกขาดวิตามินอะไร ควรรับประทานอาหารแบบไหน

เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา