backup og meta

เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

    เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร เพื่อบำรุงและกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

    ผู้ที่มีปัญหาเลือดจาง อาจต้องการทราบว่า เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร จึงจะช่วยบำรุงเซลล์เม็ดแดงให้แข็งแรง โดยทั่วไป โรคเลือดจางจากการขาดวิตามิน มักเกิดจากการขาดวิตามินบี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำซึ่งพบอยู่ในอาหารบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจึงควรรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ โยเกิร์ต เครื่องในสัตว์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ควรรับประทานอาหารที่หลากหลายและถูกหลักโภชนาการเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงเป็นโรคอื่น ๆ ได้ด้วย

    โรคเลือดจางเกิดจากอะไร

    โรคเลือดจาง (Anaemia) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงที่แข็งแรงไม่เพียงพอหรือมีปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงต่ำผิดปกติ ส่งผลให้ไม่สามารถนำพาออกซิเจนและสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขาดธาตุเหล็ก การขาดวิตามินบี 12 การติดเชื้อ ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดได้อย่างเหมาะสม

    โดยทั่วไป อาการของโรคเลือดจางแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของโรค สำหรับโรคเลือดจางจากการขาดวิตามินบี 12 หรือโฟเลต (Folate) เกิดจากร่างกายขาดวิตามินบี 12 จนส่งผลให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่มากผิดปกติจนเซลล์เม็ดเลือดแดงไม่สามารถทำงานได้

    โรคเลือดจาง มีอาการอย่างไร

    ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดวิตามินบี 12 หรือโฟเลต มักมีอาการดังต่อไปนี้

    • อ่อนเพลียรุนแรง
    • ไม่มีแรงทำอะไร
    • รู้สึกชาเหมือนถูกเข็มทิ่ม
    • เจ็บลิ้น ลิ้นแดง
    • ปากมีแผลเปื่อย
    • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
    • ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล สับสน สมองเสื่อม
    • มีปัญหาด้านความจำ

    เลือดจาง กิน วิตามิน อะไร

    ผู้ที่มีเลือดจางควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งช่วยเสริมสร้างกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และส่งเสริมให้ร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดที่เพียงพอในการลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังส่วนต่าง ๆ และช่วยบำรุงระบบประสาท ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 มีดังนี้

    • ปลาและหอย
    • เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ
    • เครื่องในสัตว์ เช่น ตับหมู ตับไก่ ตับวัว
    • เนื้อสัตว์ปีก เช่น ไก่ เป็ด ไก่งวง
    • ไข่เป็ด ไข่ไก่
    • นิวทริชั่นแนล ยีสต์ (Nutritional yeast)
    • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น โยเกิร์ต ชีส นมไขมันต่ำ

    นอกจากนี้ อาจรับประทานอาหารเสริมวิตามินบี 12 ทั้งนี้ คุณหมออาจแนะนำวิตามินบี 12 ชนิดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับภาวะของผู้ป่วยที่ขาดวิตามินบี 12 เช่น ไซยาโนโคบาลามิน ( Cyanocobalamin) ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมนำมาใช้รักษาภาวะขาดวิตามินบี 12 มากที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินที่เพียงพอ

    ปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายควรได้รับ

    ปริมาณวิตามินบี 12 ที่ร่างกายควรได้รับ อาจแบ่งตามประเภทได้ดังนี้

    วิตามินบี 12 ในอาหาร

    • เด็กแรกเกิด- 6 เดือน ควรได้รับอย่างน้อย 0.4 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็ก 7-12 เดือน ควรได้รับอย่างน้อย 0.5 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็ก 1-3 ปี ควรได้รับอย่างน้อย 0.9 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็ก 4-8 ปี ควรได้รับอย่างน้อย 1.2 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็ก 9-13 ปี ควรได้รับอย่างน้อย 1.8 ไมโครกรัม/วัน
    • เด็กวัยรุ่น 14-18 ปี ควรได้รับอย่างน้อย 2.4 ไมโครกรัม/วัน
    • คนอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับอย่างน้อย 2.4 ไมโครกรัม/วัน

    วิตามินบี 12 ในรูปแบบอาหารเสริม

    • ผู้ใหญ่ควรได้รับไม่เกิน 2.4 ไมโครกรัม/วัน
    • ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัม/วัน
    • ผู้หญิงให้นมบุตรควรได้รับไม่เกิน 2.8 ไมโครกรัม/วัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 15/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา