-
อาจลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
โอเมกา 3 ในแซลมอนอาจป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein หรือ LDL) รวมถึงไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งมีแร่ธาตุ วิตามิน และสารอาหารอื่น ๆ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น กรดอัลฟาไลโปอิก (a-lipoic acid) โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10) ซึ่งช่วยกระบวนการผลิตพลังงานของเซลล์ รวมทั้งเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย
ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคแซลมอนและความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด เผยแพร่ทางวารสาร Atherosclerosis ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งนักวิจัยได้ทำการทดสอบคุณสมบัติของแซลมอน โดยให้กลุ่มตัวอย่าง 48 คน อายุระหว่าง 20-55 ปี รับประทานแซลมอนวันละ 125 กรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นหยุดรับประทาน 4 สัปดาห์ โดยวัดความเปลี่ยนแปลงในร่างกายในแต่ละช่วงเวลา แล้วเปรียบเทียบกันภายหลัง พบว่า หลังการบริโภคแซลมอน ร่างกายของกลุ่มตัวอย่างมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ และไตรกลีเซอไรด์ลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการไม่บริโภคปลาใด ๆ ในระยะเวลาเท่ากัน
สรุปได้ว่า การบริโภคแซลมอนเป็นประจำทุกวันอาจมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีรวมทั้งไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ โดยอาจเป็นผลมาจากโปรตีนเซลล์ไขมันที่ชื่อว่า อดิโนเพคติน (Adiponectin) ในแซลมอนซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบรวมทั้งช่วยลดการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย
นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้น ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของโอเมกา 3 ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ตีพิมพ์ในวารสาร European Review for Medical and Pharmacological Sciences ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า การบริโภคโอเมกา 3 ในปริมาณที่พอเหมาะอาจช่วยรักษาระดับความดันเลือดให้ลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจมีส่วนช่วยลดโอกาสเสียชีวิตอย่างกะทันหัน เนื่องจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
-
อาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้า
โอเมกา 3 อาจช่วยบรรเทาการซึมเศร้าและภาวะทางอารมณ์อื่น ๆ ที่ผิดปกติได้ โดยเฉพาะโอเมกา 3 ชนิดอีพีเอ หรือกรดอิโคซะเพนตะอีโนอิก (Eicosapentaenoic Acid หรือ EPA) และดีเอชเอ หรือกรดโดโคซะเฮกซะอีโนอิก (Docosahexaenoic acidหรือ DHA) ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและมีส่วนสำคัญต่อการทำงานของสมอง สายตา และบำรุงระบบประสาท หากระดับสารดีเอชเอในสมองลดลง อาจทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ในสมองได้
ประโยชน์ของแซลมอนในการช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้านั้นสอดคล้องกับผลการศึกษา ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Integrative Medicine Research พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยกรดไขมัน โดยวิเคราะห์จากงานวิจัยจำนวนมาก ระบุว่า มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนว่า โอเมกา 3 อาจมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการซึมเศร้า รวมถึงอาการทางจิตอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาเดียวกันสรุปเพิ่มเติมว่า มีรายงานการวิจัยอีกจำนวนหนึ่ง ระบุว่า โอเมกา 3 อาจไม่มีประสิทธิภาพในการต้านโรคซึมเศร้าเลย
สาเหตุที่การศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของโอเมกา 3 ต่อโรคซึมเศร้า ให้ผลสรุปแบ่งออกเป็น 2 ข้อที่แตกต่างอาจเกิดจากรูปแบบการทดลอง จำนวนกลุ่มตัวอย่าง หรือสาเหตุของโรคซึมเศร้าในกลุ่มตัวอย่าง จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของโอเมกา 3 ที่มีต่อโรคซึมเศร้าอย่างละเอียดต่อไป
-
อาจป้องกันโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
การขาดธาตุอาหาร ซีลีเนียม อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ เช่น โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) หรือต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง (Thyroid Autoimmune Disease) การบริโภคแซลมอน อาจช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวได้ เนื่องจากแซลมอนอุดมไปด้วยธาตุซีลีเนียม
ทั้งนี้ ผลการศึกษาหนึ่งในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างซีลีเนียมกับอาการทางตาจากโรคไทรอยด์ ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Ophthalmology ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งได้ทำการวิเคราะห์งานวิจัยจำนวนหลายชิ้น รวมทั้งทำการทดลองในห้องทดลองด้วยการทดสอบจากเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต ปัสสาวะ เส้นผม เล็บ พบว่า การบริโภคซีลีเนียมทดแทน อาจมีส่วนช่วยต้านการอักเสบของโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ต่าง ๆ รวมถึงความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาเนื่องจากโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ข้อควรระวังในการบริโภค แซลมอน
แม้ว่า แซลมอน จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่การบริโภคแซลมอนในปริมาณมาก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- ทำให้เลือดแข็งตัวช้า น้ำมันปลามีคุณสมบัติต้านการจับตัวของเลือดตามธรรมชาติ การบริโภคแซลมอนในรูปแบบน้ำมันปลาเกิน 3 กรัมต่อวัน จึงอาจส่งผลให้เลือดหยุดไหลยากขึ้น
- อาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มอาจมีสารพิษสะสมอยู่ในตัว คือ สารพีซีบี (PCBs) หรือ โพลีคลอริเนตไบฟีนิล ซึ่งเป็นสารประกอบคลอรีน แต่พบได้ค่อนข้างน้อย เพราะประโยชน์ของแซลมอนนั้นสูงกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณสารพิษที่อาจปนเปื้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม เด็ก สตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคปลาแซลมอนรวมทั้งปลาชนิดอื่น ๆ
- อาจสร้างความเสียหายให้ระบบประสาท โดยทั่วไป แซลมอนจะมีสารปรอทตามธรรมชาติเจือปน แต่ในปริมาณน้อย จึงไม่เป็นอันตรายเมื่อบริโภค อย่างไรก็ตาม การบริโภคแซลมอนปริมาณมาก อาจทำให้ระบบประสาทเสียหายเนื่องจากสารปรอทได้ โดยเฉพาะในกรณีของเด็กเล็ก หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับโภชนาการอาหารสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย