แป้งข้าวโพด เป็นแป้งอเนกประสงค์ที่นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำอาหารและของหวาน ไม่ว่าจะเป็นซุปสตูว์ พาย เพราะแป้งข้าวโพดมีส่วนช่วยให้ขนมอบบางชนิดนุ่มขึ้น แต่หลายๆ คนก็กังวลว่าแป้งข้าวโพดนั้นดีต่อสุขภาพหรือไม่
[embed-health-tool-bmi]
ทำความรู้จัก แป้งข้าวโพด แป้งสำหรับทำอาหาร
ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่มีส่วนประกอบหลัก 3 ส่วนคือ จมูกข้าวโพด รำ และเอนโดสเปิร์ม
รำ คือส่วนที่เปลือกด้านนอกที่แข็ง ๆ รำของข้าวโพดเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์
จมูกข้าวโพด จมูกข้าวโพดเป็นส่วนกลางของเมล็ด ที่สามารถงอกเป็นต้นข้าวโพดได้ จมูกข้าวโพดเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยไขมัน
เอนโดสเปิร์ม แป้ง ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตนั้นส่วนใหญ่แล้วได้มาจากส่วนนี้
การทำแป้งข้าวโพดนั้น จะทำการแยกรำ จมูกข้าวโพดและเอนโดสเปิร์มของเมล็ดข้าวโพดก่อน จากนั้นแป้งจากเอนโดสเปิร์มของเมล็ดข้าวโพดจะถูกสกัดด้วยกระบวนการที่เรียกว่า การบดเปียก (Wet milling) โดยเริ่มจากการนำเมล็ดข้าวโพดไปแช่น้ำก่อน แล้วทำการแยกเมล็ดพืชออกเป็นส่วนๆ ทำให้ได้แป้งข้าวโพด น้ำมันข้าวโพด และน้ำเชื่อมข้าวโพด
คุณค่าทางโภชนาการของแป้งข้าวโพด
แป้งข้าวโพดเป็นแป้งที่มีแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตสูง แต่ขาดสารอาหารที่สำคัญอย่าง โปรตีน ไฟเบอร์ วิตามินและแร่ธาตุ แป้งข้าวโพดหนึ่งถ้วย ประมาณ 128 กรัม มีสารอาหาร ดังนี้
แคลอรี่ 488
โปรตีน 0.5 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 117 กรัม
ไฟเบอร์ 1 กรัม
ทองแดง ร้อยละ 7 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ซีลีเนียม ร้อยละ 7 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
เหล็ก ร้อยละ 3 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
แมงกานีส ร้อยละ 3 ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน
ประโยชน์ของ แป้งข้าวโพด
สารอาหารส่วนใหญ่ในข้าวโพดนั้นมักจะพบได้ที่ รำและจมูกข้าวโพด แต่ด้วยขั้นตอน กระบวนการผลิตแป้งข้าวโพดทำให้ไม่มีทั้งรำและจมูกข้าวโพด ทำให้แป้งข้าวโพดเป็นแป้งที่มีปริมาณแคลอรี่และคาร์โบไฮเดรตที่สูง และไม่มีสารอาหารอย่างไฟเบอร์ ไขมัน หรือวิตามินที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ทำให้แป้งข้าวโพดเป็นแป้งที่มีประโยชน์อย่างจำกัด หากมีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ การรับประทานแป้งข้าวโพดจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แป้งข้าวโพดยังให้พลังงานแก่ร่างกายได้เร็ว ประโยชน์อีกอย่างของแป้งข้าวโพดคือปราศจากกลูเตน สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตน แป้งข้าวโพดก็ถือเป็นตัวเลือกอีกชนิดหนึ่ง
ข้อเสียของการใช้ แป้งข้าวโพด
เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด
แป้งข้าวโพดอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและค่าดัชนีน้ำตาล ซึ่งอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูงเมื่อรับประทานไปแล้ว ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้แป้งข้าวโพดยังมีไฟเบอร์ต่ำ ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้แป้งข้าวโพดถูกย่อยอย่างรวดเร็วและอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ดังนั้น แป้งข้าวโพดจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีหากเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 หรือต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
อันตรายต่อสุขภาพหัวใจ
แป้งข้าวโพดถือเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการกลั่น ซึ่งหมายความว่าได้ผ่านกระบวนการแปรรูปที่และถูกตัดสารอาหารออก การบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตกลั่น เช่น แป้งข้าวโพดเป็นประจำอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง อาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวานประเภท 2 และความดันโลหิตสูงได้
การบริโภคแป้งข้าวโพดในปริมาณที่สูงเป็นประจำนั้น อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพหัวใจ อย่างไรก็ตาม สามารถใช้แป้งข้าวโพดในการประกอบอาหารได้ แต่ควรใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ และควรจับคู่กับอาหารที่ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้ได้สารอาหาร วิตามิน เกลือแร่อื่นๆ ที่ในแป้งข้าวโพดไม่มี