backup og meta

ไข่ไก่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ไข่ไก่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ไข่ไก่ เป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพง และใช้ปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะผัด ทอด ปิ้ง ต้ม หรือนำไปทำขนม ไข่ไก่อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โปรตีน โคลีน (Choline) ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม โซเดียม แคลเซียม โดยทั่วไป ทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานไข่ไก่ได้วันละ 1 ฟองโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ชิ้นสนับสนุนว่า การบริโภคไข่ไก่อาจช่วยบำรุงสมอง บำรุงสายตา ลดความเสี่ยงโรคเบาหวานและช่วยควบคุมน้ำหนัก

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ไข่ไก่

ไข่ไก่สด 100 กรัม ให้พลังงาน 143 กิโลแคลอรี (ไข่ไก่เบอร์ 4-5 หนึ่งฟองหนักประมาณ 50 กรัม) และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ ดังต่อไปนี้

  • โปรตีน 12.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 0.96 กรัม
  • โคลีน 335 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 184 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 132 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 129 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 48 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 11.4 มิลลิกรัม
  • ไอโอดีน 49.1 ไมโครกรัม
  • ซีลีเนียม 31.1 ไมโครกรัม

นอกจากนี้ ไข่ไก่ยังอุดมไปด้วยสารอาหารอื่น ๆ อย่าง ทองแดง เหล็ก สังกะสี แมงกานีส วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 โฟเลต (Folate) วิตามินบี 12 ไลโคปีน (Lycopene)

ประโยชน์ของ ไข่ไก่ ต่อสุขภาพ

อาจช่วยบำรุงสุขภาพตาและลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคตา

ไข่ไก่มีสารลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยรักษาสุขภาพสายตาและลดความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

อาจช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน

ไข่ไก่มีสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ลูทีน และซีแซนทิน ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน เช่น ภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะดื้อน้ำตาลกลูโคส และภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative Stress)

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของการบริโภคไข่ต่อความเสี่ยงโรคเบาหวานที่ลดลงในเพศชายวัยกลางคนและวัยสูงอายุ เผยแพร่ในวารสาร Nutrition Research and Practice ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับอาหารที่ชาวเกาหลีเพศชายจำนวน 7,002 ราย ซึ่งมีอายุระหว่าง 40-69 ปี บริโภคเป็นประจำและติดตามชีวิตของแต่ละคนเป็นระยะเวลาประมาณ 14 ปี เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่ชอบบริโภคและโอกาสเป็นโรคเบาหวาน พบว่า เพศชายที่บริโภคไข่เป็นประจำหรือราว 2- 4 มื้อ/สัปดาห์ มีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยกว่ากลุ่มที่บริโภคไข่ 0-1 มื้อ/สัปดาห์ ราว 40 เปอร์เซ็นต์

อาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้

ไข่ไก่อุดมไปด้วยสารอาหารกลุ่มโปรตีนที่ช่วยให้อิ่มท้องได้นาน และส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารในมื้อถัดลดลง ช่วยลดโอกาสบริโภคพลังงานส่วนเกิน จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของไข่ต่อความอิ่มท้องของผู้ที่เป็นโรคอ้วนและผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American College of Nutrition ปี พ.ศ. 2548 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครเพศหญิงจำนวน 30 รายที่มีค่าดัชนีมวลกายตั้ง 25 ขึ้นไป ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้รับประทานอาหารเช้าที่มีไข่เป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนอีกกลุ่มให้รับประทานอาหารเช้าที่มีขนมปังเบเกิล (Bagel) เป็นส่วนประกอบหลัก แล้วเปรียบเทียบความอิ่มหลังมื้ออาหาร ซึ่งส่งผลต่อพลังงานที่ต้องการในมื้อเที่ยง

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองที่รับประทานอาหารเช้าที่มีไข่เป็นส่วนประกอบหลักทำให้อิ่มท้องมากกว่าอาหารเช้าที่มีขนมปังเบเกิลเป็นส่วนประกอบหลัก และยังมีผลให้ผู้เข้าร่วมการทดลองบริโภคพลังงานน้อยลงตลอดทั้งวันด้วย

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า ไข่ไก่อาจเป็นตัวเลือกในการควบคุมน้ำหนัก เพราะช่วยให้อิ่มท้องและอยากอาหารน้อยลง

  1. อาจช่วยบำรุงสมอง

ไข่แดงในไข่ไก่มีธาตุอาหารโคลีน ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยลดการอักเสบของสมอง ส่งเสริมการทำงานของเซลล์สมอง และช่วยให้ความจำดี การบริโภคไข่ไก่ จึงอาจช่วยบำรุงและส่งเสริมการทำงานของสมอง

ข้อควรระวังในการบริโภค ไข่ไก่

การบริโภคไข่ไก่ มีข้อควรระวังดังต่อไปนี้

  • ผู้ใหญ่สุขภาพดีสามารถรับประทานไข่ไก่ 1 ฟอง/วันได้ อย่างไรก็ตาม ไข่ไก่เป็นอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง การบริโภคไข่ไก่ 1-2 ฟองร่วมกับอาหารคอเลสเตอรอลสูง ผู้ที่มีโรคประจำตัวจึงควรรับประทานตามคำแนะนำของคุณหมอ
  • หากอุณหภูมิรอบตัวอยู่ที่ 32 องศาเซลเซียส ไม่ควรทิ้งไข่ที่ปรุงแล้ว หรืออาหารจานไข่ไว้นอกตู้เย็นเกิน 2 ชั่วโมง เพราะอุณหภูมิดังกล่าวเป็นระดับที่แบคทีเรียเติบโตในอาหารได้ง่าย และอาจทำให้เจ็บป่วยเมื่อบริโภคอาหารที่วางทิ้งไว้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Egg consumption and high-density-lipoprotein cholesterol. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/8120521/. Accessed July 14, 2022

ω-3 PUFAs and Colon Cancer: Experimental Studies and Human Interventional Trials. https://link.springer.com/chapter/10.1007/978-90-481-3579-0_3. Accessed July 14, 2022

Eggs, Grade A, Large, egg whole. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/748967/nutrients. Accessed July 14, 2022

Mechanism and Potential of Egg Consumption and Egg Bioactive Components on Type-2 Diabetes. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6413102/. Accessed July 14, 2022

Egg consumption is associated with a lower risk of type 2 diabetes in middle-aged and older men. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6172166/#:~:text=In%20conclusion%2C%20low%20egg%20intake,risk%20of%20type%202%20diabetes. Accessed July 14, 2022

Health Benefits of Eggs. https://www.webmd.com/diet/ss/slideshow-eggs-health-benefits. Accessed July 14, 2022

Short-term effect of eggs on satiety in overweight and obese subjects. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16373948/. Accessed July 14, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเบาหวานในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง

อาหารหลัก 5 หมู่และประโยชน์ของสารอาหาร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา