วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นั่นก็คือ สารไฟโตนิวเทรียนท์ แม้จะฟังแล้วชื่อไม่ค่อยคุ้นหู แต่รับรองได้เลยว่า ไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นสารอาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่แพ้กับสารอาหารอย่างวิตามินหรือแร่ธาตุต่างๆ เลยทีเดียว
ไฟโตนิวเทรียนท์ คืออะไร
กินผักจะได้วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งวิตามินเอ บี ซี ไปจนถึงวิตามินอี รวมถึงแร่ธาตุต่างๆ เช่น ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม และแมกนีเซียม แต่นอกเหนือจากสารอาหารที่รู้จักกันโดยทั่วไปอยู่แล้วนั้น ยังมีอีกหนึ่งสารอาหารดีๆ จากผักที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนักนั่นคือ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) หรือ สารไฟโตนิวเทรียนท์ นั่นเอง
ไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นสารเคมีที่ถูกสร้างโดยพืชและมีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา มีสรรพคุณช่วยในการป้องกันและรักษาโรคต่างๆ สามารถพบสารนี้ได้ในผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วต่างๆ และเครื่องเทศ ในไฟโตนิวเทรียนท์ยังประกอบไปด้วยสารอาหารดีๆ อย่างสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านการอักเสบ ที่ช่วยให้สุขภาพดีอีกด้วย
สารไฟโตนิวเทรียนท์ มีอยู่ด้วยกันมากกว่า 25,000 ชนิด แต่จะมีชนิดสำคัญๆ ที่พบได้มากและเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป 6 ชนิด ได้แก่
- แคโรทีนอยด์ (Carotenoids)
- กรดเอลลาจิก (Ellagic acid)
- ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids)
- เรสเวอราทรอล (Resveratrol)
- กลูโคซิโนเลท (Glucosinolates)
- ไฟโตอีสโตรเจน (Phytoestrogen)
ประโยชน์ของไฟโตนิวเทรียนท์
ไฟโตนิวเทรียนท์มีสารประกอบที่แตกต่างกันออกไป และสารประกอบที่แตกต่างกันออกไปของ สารไฟโตนิวเทรียนท์ นั้น ก็ให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนี้
เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
สารไฟโตนิวเทรียนท์บางชนิดทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกาย มีสรรพคุณช่วยในการป้องกันมะเร็ง และป้องกันความเสียหายของร่างกายที่จะเกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระที่เข้ามาในร่างกาย
มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
อาการอักเสบของร่างกาย คือกระบวนการตอบสนองตามธรรมชาติที่ร่างกายแสดงออกหลังจากเกิดความเสียหายในการต่อสู้กับเชื้อโรคหรือโรคเรื้อรังต่างๆ แต่สารไฟโตนิวเทรียนท์จะออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของร่างกายได้
ทำหน้าที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
สารไฟโตนิวเทรียนท์ มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง ให้สามารถพร้อมที่จะรับมือกับเซลล์หรือเชื้อโรคต่างๆ และช่วยรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไป (overactive immune system) และไม่ให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานต่ำจนเกินไป (underactive immune system)
มีผลต่อเซลล์ประสาท
หากระบบของเซลล์ประสาทเสื่อม หรือเกิดความเสียหาย จะส่งผลให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์ หรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน ดังนั้น อีกหนึ่งประโยชน์ของ สารไฟโตนิวเทรียนท์ ก็คือการช่วยเสริมสร้างเซลล์ประสาทให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความสูญเสียที่ระบบประสาท
ยับยั้งและต่อต้านเซลล์มะเร็ง
สารไฟโตนิวเทรียนท์ มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมระบบดีเอ็นเอ ชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือช่วยทำให้เซลล์มะเร็งตายเร็วขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า สารไฟโตนิวเทรียนท์เป็นอีกสารอาหารหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็งได้
ช่วยควบคุมฮอร์โมน
ฮอร์โมนในร่างกายควรอยู่ในระดับที่มีความสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ สารไฟโตนิวเทรียนท์ มีฤทธิ์ช่วยในการรักษาและควบคุมให้ฮอร์โมนต่างๆ ของร่างกายมีความสมดุล เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือ อินซูลิน เป็นต้น
ช่วยชะลอวัย
จากผลการวิจัยทางคลินิก พบว่า สารไฟโตนิวเทรียนท์ มีส่วนช่วยในการลดริ้วรอย ช่วยชะลอวัย ทำให้ไม่แก่ก่อนวัยอันควร โดยมักจะพบในสารประกอบไฟโตนิวเทรียนท์อย่าง เรสเวอราทรอล (Resveratrol) คาเทชิน (Catechin) เควอซิทิน (Quercetin) สารเคอร์คูมิน (Curcumin) และสารอัลลิซิน (Allicin)
อาหารใกล้ตัวที่มีไฟโตนิวเทรียนท์
สารไฟโตนิวเทรียนท์ เป็นสารอาหารที่พบได้ในพืชชนิดต่างๆ ทั้งผักและผลไม้ โดยอาหารใกล้ตัวที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์จากไฟโตนิวเทรียนท์ ได้แก่
กลุ่มผักและผลไม้สีแดง เช่น แตงโม ราสพ์เบอร์รี่ บีทรูท เชอร์รี่ องุ่นแดง
- สารไฟโตนิวเทรียนท์ ในกลุ่มผักและผลไม้สีแดงจะดีต่อต่อมลูกหมาก ระบบทางเดินปัสสาวะ มีส่วนช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ
กลุ่มผักและผลไม้สีม่วง เช่น มะเขือม่วง องุ่น บลูเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่
- สารไฟโตนิวเทรียนท์ ในกลุ่มผักและผลไม้สีม่วง ดีต่อสุขภาพใจ กระดูก หลอดเลือดแดง ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับความคิดและความเข้าใจ
กลุ่มผักและผลไม้สีเขียว เช่น กีวี อะโวคาโด แคนตาลูป บร็อคโคลี่ ผักโขม
- สารไฟโตนิวเทรียนท์ ในกลุ่มผักและผลไม้สีเขียว ดีต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็น กระตุ้นการทำงานของหลอดเลือด ตับ และเซลล์ต่างๆ
กลุ่มผักและผลไม้สีขาว เช่น หอมใหญ่ เห็ด ถั่วต่างๆ
- สารไฟโตนิวเทรียนท์ ในกลุ่มผักและผลไม้สีขาว มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูก กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
กลุ่มผักและผลไม้สีเหลืองหรือสีส้ม เช่น ฟักทอง แครอท พีช สับปะรด มะละกอ
- สารไฟโตนิวเทรียนท์ ในกลุ่มผักและผลไม้สีเหลืองหรือสีส้ม มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาสุขภาพดวงตาและการมองเห็น
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmr]