น้ำผลไม้ มีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติที่เรียกว่า ฟรุกโตส ในปริมาณที่สูง มีประโยชน์ต่อร่างกายเนื่องจากให้สารอาหารได้เสมือนการรับประทานผลไม้เป็นลูก ๆ เพียงแต่จะไม่มีไฟเบอร์ จึงอาจทำให้ร่างกายไม่รู้สึกอิ่ม ถือว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มโซดา อย่างไรก็ตาม ควรดื่มด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้
[embed-health-tool-bmi]
ความสัมพันธ์ระหว่าง น้ำผลไม้ กับน้ำตาล
ปริมาณน้ำตาลในน้ำผลไม้อาจส่งผลเสียต่อร่างกายไม่ต่างจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม เครื่องดื่มโซดารูปแบบต่าง ๆ
น้ำผลไม้ มีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติที่เรียกว่า ฟรุกโตส ในปริมาณที่สูง ซึ่งมีการอ้างอิงเกี่ยวกับรายงานความอันตรายของสารให้ความหวานจากข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง หรือ High Fructose Corn Syrup (HFCS) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานที่ทำมาจากแป้งข้าวโพด โดยจะทำให้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลปกติถึง 2 เท่า หากร่างกายได้รับสารให้ความหวานจากข้าวโพดที่มีฟรุกโตสสูง อาจส่งผลต่อการดื้ออินซูลิน ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเหลือดหัวใจตีบตัน โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
ถึงแม้ว่าน้ำผลไม้จะมีฟรุกโตสเช่นเดียวกันกับ HFCS แต่น้ำผลไม้ก็ยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าน้ำอัดลม ไม่ใช่เพียงน้ำหวาน ๆ แบบน้ำอัดลมที่ไม่มีสารอาหารอยู่เลย ดังนั้น น้ำผลไม้อาจให้สารอาหารต่อร่างกายได้เสมือนการรับประทานผลไม้เป็นลูก ๆ เพียงแต่จะไม่มีไฟเบอร์ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่บริโภคไม่รู้สึกอิ่ม จึงอาจมีโอกาสที่จะทำให้หลังบริโภคน้ำผลไม้เข้าไปในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณแคลอรี่และฟรุกโตสในจำนวนมากจนเกินความจำเป็น ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงและมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
น้ำตาลฟรุกโตสใน น้ำผลไม้ ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
น้ำตาลฟรุกโตสเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ที่ได้จากธรรมชาติพบได้ทั่วไปในผลไม้ น้ำผึ้ง และผัก และตับจะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงาน หากรับประทานฟรุกโตสมากเกินไป อาจส่งผลทำให้ตับทำงานหนักเกินไป และอาจมีการเปลี่ยนฟรุกโตสไปเป็นไขมันแทนการเปลี่ยนไปเป็นพลังงาน และส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
หากได้รับน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไปจะส่งผลอย่างไร
หากบริโภคน้ำผลไม้ หรือร่างกายได้รับน้ำตาลฟรุกโตสมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้
- จะเพิ่มระดับกรดยูริกในเลือด นำไปสู่การเป็นโรคเก๊าต์และความดันโลหิตสูง
- ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ และนำไปสู่โรคไขมันพอกตับ
- เกิดการดื้ออินซูลิน ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง อาจทำให้เกิดการสะสมไขมันในอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ