ปูอัด เป็นอาหารเมนูโปรดของใครหลายคน ที่จะกินคู่กับเมนูซูชิ ปลาดิบ สลัด รวมถึงนำไปชุบแป้งทอดก็กรอบอร่อย แต่อย่างไรก็ตามปูอัด หรือเนื้อปูเทียม (Imitation crab) ถือเป็นอาหารแปรรูปที่อาจมีน้ำตาลและโซเดียมสูง ดังนั้นวันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนไปรู้จักปูอัดให้มากขึ้น และแนะนำว่าควรบริโภคในปริมาณเหมาะสม ไม่กินมากจนเกินไปจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmr]
ปูอัด ทำมาจากอะไร
ปูอัด หรือเนื้อปูเทียม (Imitation crab) จะไม่ได้มีสารอาหารเทียบเท่ากับเนื้อปูจริงๆ เพราะในปูอัดไม่มีเนื้อปู และส่วนผสมหลักของปูอัดคือเนื้อปลาบด ที่เรียกว่า ซูริมิ (Surimi)
ซูริมิมักจะทำมาจากปลาพอลล็อก ที่มีสารเติมแต่ง และการเติมกลิ่นและรสชาติ เช่น แป้ง น้ำตาล ไข่ขาว และเครื่องชูรสกลิ่นปู ปูอัดจึงประกอบด้วยปลาบางส่วน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล ทำให้ปูอัดนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เท่ากับเนื้อปูสด
ปูอัด 85 กรัม จะให้พลังงาน 81 แคลอรี่ และมีคุณค่าทางโภชนาการของปูอัดมีดังนี้
- ไขมัน 0.4 กรัม
- คาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 12.7 กรัม
- โปรตีน 6.5 กรัม
- คอเลสเตอรอล 17 มิลลิกรัม
- โซเดียม 715 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 12 8% ของปริมาณวิตามินบี 12 ที่ควรได้รับต่อวัน
- แมกนีเซียม 9% ของปริมาณแมกนีเซียมที่ควรได้รับต่อวัน
- ฟอสฟอรัส 24% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน
- ซิงก์ 2% ของปริมาณซิงก์ที่ควรได้รับต่อวัน
- คอปเปอร์ 1% ของปริมาณคอปเปอร์ที่ควรได้รับต่อวัน
- ซีลีเนียม 27% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน
ปูอัดมีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่
ซีลีเนียมและฟอสฟอรัสในปูอัด
ปูอัดมีซีลีเนียม (Selenium) และฟอสฟอรัส (Phosphorus) มาก ซึ่งแร่ธาตุทั้ง 2 ชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เนื่องจากทุกๆ เซลล์ในร่างกายต้องการฟอสฟอรัส เพื่อการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ และมีบทบาทในการสื่อสารของเซลล์ ส่วนซีลีเนียมจะมีส่วนช่วยในการทำงานของหลอดเลือด ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งการกินปูอัดปริมาณ 85 กรัมจะได้รับซีลีเนียม 27% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน และฟอสฟอรัส 24% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน
เปรียบเทียบปูอัดกับเนื้อปูสด
ถ้าคุณต้องการเพิ่มโปรตีน และลดปริมาณคาร์โบไฮเดรต ควรกินเนื้อปูสดแทนการกินปูอัด เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบปูอัดกับเนื้อปูสด จะพบว่าเนื้อปูสดมีวิตามินและแร่ธาตุมากกว่า เช่น วิตามินบี 12 ซิงก์ และซีลีเนียม แต่ในทางกลับกัน เนื้อปูสดอาจมีโซเดียมมากกว่าปูอัด นอกจากนี้เนื้อปูสดโดยทั่วไปจะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปูอัด แม้ว่าจะมีการเติมโอเมก้า 3 ในปูอัด แต่สารอาหารบางอย่างอาจโดนชะล้างออกไปในระหว่างกระบวนการผลิต
น้ำตาลในปูอัด
ปูอัดปริมาณ 85 กรัม สามารถมีน้ำตาลมากถึง 10.6 กรัม โดยในกระบวนการผลิตปูอัดได้ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้ามาเพื่อปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกับแคลอรี่ก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งตามคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าคุณควรจำกัดปริมาณน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงของโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือด
โซเดียมในปูอัด
ปูอัด 85 กรัมมีโซเดียม 715 มิลลิกรัม ซึ่งปริมาณโซเดียม (Sodium) ที่ควรได้รับต่อวันคือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัม นอกจากนี้สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป ควรจำกัดปริมาณโซเดียม
ผู้ที่แพ้อาหารควรระวัง
ถ้าคุณแพ้อาหาร ควรหลีกเลี่ยงการกินปูอัดที่ไม่มีฉลากข้อมูลทางโภชนาการกำกับ เนื่องจากคุณอาจแพ้สารบางชนิด เช่น ปลา สารสกัดจากปู และไข่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ปูอัดบางยี่ห้อยังติดป้ายฉลากผิด เนื่องจากมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์ปูอัดบางยี่ห้อทำมาจากปลาที่อาจก่อให้เกิดภาวะพิษชิกัวเทอรา (Ciguatera fish poisoning) ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยเนื่องจากพิษจากอาหารทะเลที่พบบ่อยที่สุด