อาหารรสจัด ส่วนใหญ่ได้รสชาติเผ็ดร้อนมาจากสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic compound) ในพริก ที่เรียกว่า แคปไซซิน (Capsaicin) ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเยื่อแกนกลางสีขาว หรือที่เรียกว่า รก (Placenta) ของพริก หรืออาจมีเครื่องเทศ เช่น พริกไทย ยี่หร่า อบเชย เป็นส่วนประกอบ การรับประทานอาหารรสจัดอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็ควรรับประทานอย่างพอเหมาะ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการอาจควรเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
ประโยชน์ของการรับประทาน อาหารรสจัด
อาหารรสจัดอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
ช่วยเร่งการเผาผลาญ
ข้อมูลจากการศึกษาจำนวนมากบ่งชี้ว่า เครื่องเทศบางชนิด เช่น ยี่หร่า อบเชย ขมิ้น และพริก อาจช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญ และมีส่วนช่วยในการชะลอความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า เครื่องเทศที่ทำให้อาหารมีรสชาติจัดขึ้นอย่างขมิ้น มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อไขมันในหนูได้ และการเพิ่มอบเชยลงในมื้ออาหารยังมีส่วนในการช่วยลดน้ำหนักได้อีกด้วย
ช่วยต่อต้านการอักเสบ
การอักเสบ (Inflammation) เป็นกระบวนการตอบสนองของร่างกายเมื่อเนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บ เช่น การติดเชื้อโรค อาการเจ็บปวดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เครื่องเทศที่ให้ความเผ็ดร้อนบางชนิด เช่น ขิง ขมิ้น กระชาย ข่า มีสารเคอร์คูมินซึ่งมีส่วนช่วยในการลดการอักเสบของร่างกายได้ ทางการแพทย์มีการใช้ขิงและกระเทียม ที่มีคุณสมบัติในการต้านอักเสบในการรักษาโรคและภาวะสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ โรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตัวเอง อาการปวดศีรษะ อาการคลื่นไส้
ช่วยทำให้สุขภาพหัวใจแข็งแรง
สารแคปไซซินในพริก อาจช่วยควบคุมระดับไขมันไม่ดี (LDL) ในร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะอาจไปสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่าการบริโภคพริกช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ร้อยละ 13
อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
แคปไซซิน ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบได้มากในพริก มีส่วนช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) พบว่า สารแคปไซซินมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในหนู
ข้อควรระวังในการบริโภคอาหารรสจัด
ควรรับประทานอาหารรสจัดในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากมากไปอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองในทางเดินอาหาร และทำให้เป็นโรคกระเพราะอาหารได้ เพราะสารประกอบแคปไซซินในพริกจะไปกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทพี หรือสารพี (Subtance P) ที่ส่งสัญญาณประสาทไปยังสมองและทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อน
สำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ ควรลดหรืองดรับประทานอาหารรสจัด
- กรดไหลย้อน อาหารรสจัด หรืออาหารที่มีเครื่องเทศเป็นส่วนผสมอาจทำให้เกิดกรด และเมื่อร่างกายมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป อาจส่งผลให้ผนังกระเพาะอาหารถูกทำลาย และกรดไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารหรือลำคอ หรือที่เรียกว่า กรดไหลย้อนได้
- แผลในกระเพาะอาหาร การรับประทานอาหารรสจัดมากไป อาจทำให้เกิดแผลในลำไส้เล็ก กระเพาะอาหาร หรือหลอดอาหาร และอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
- โรคกระเพาะเฉียบพลัน คือ ภาวะที่เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบอย่างกะทันหัน จนอาจทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย อุจจาระมีเลือดปน เป็นต้น
[embed-health-tool-bmr]