backup og meta

รับประทาน อาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็ง ได้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    รับประทาน อาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็ง ได้

    อาหารแปรรูป เป็นอาหารที่พบได้ตามร้านค้าทั่วไป แถมเป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว แต่รู้ไหมว่าการรับประทาน อาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็ง ได้เช่นกัน เพราะสารต่างๆ ที่มีการเพิ่มเข้าไปในขั้นตอนการแปรรูปอาหารนั้น มีสารหลายตัวที่เป็นสารก่อมะเร็ง วันนี้ Hello คุณหมอ จะชวนทุกคนไปรู้จักกับสารแต่ละชนิดที่มีในอาหารแปรรูปว่าส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งอย่างไร

    สารก่อมะเร็งในอาหารแปรรูป

    ไนไทรต์ (Nitrite) สารเอ็นในโตรโซ (Nnitroso compounds) และ ไนโตรซามีน (Nitrosamines)

    สารเอ็นไนโตรโซ เป็นสารก่อมะเร็ง และเป็นสารที่มีอยู่ในอาหารแปรรูป ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสารไนไทรต์ ที่ใช้ในขบวนการแปรรูป ซึ่งทำให้เนื้อแปรรูปนั้นมีสีแดง เพิ่มรสชาติ และลดการเกิดกลิ่นเหม็นหืน ยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการอาหารเป็นพิษ อาหารแปรรูป เมื่อนำไปผ่านความร้อน ไม่ว่าจะด้วยการ อบ ทอด หรือว่าย่าง จะทำให้เกิดสารที่มีชื่อว่า ไนโตรซามีน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็ง ที่พบได้ในอาการหมักดองและอาหารรมควัน นอกจากนี้สารชนิดนี้ยังเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารอีกด้วย

    โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs)

    โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons, PAHs) เป็นกลุ่มสารประกอบไฮโดรคาร์บอน โดย PAHs บางตัวมีฤทธิ์เป็นสารก่อการกลายพันธุ์หรือสารก่อมะเร็ง การรมควันเป็นวิธีการถนอมอาหารที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ซึ่งการถนอมอาหารด้วยการรมควัน ก่อให้เกิดสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่างๆ รวมไปถึง PAHs ซึ่ง PAHs เป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ โดย PAHs จะลอยตัวไปในอากาศกับควัน และจะสะสมรมตัวกัน แล้วตกลงมาอยู่บนอาหารที่เรากำลังรมควันอยู่ โดย PAHs จะเกิดขึ้นกับ ไม้หรือถ่านที่ถูกเผาไหม้ หยดไขมันที่ถูกย่าง เนื้อที่ไหม้เกรียม  ซึ่งจากการศึกษาพบว่า PAHs นั้นเป็นสารก่อมะเร็ง หากรับประทานเข้าไปเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดมะเร็งได้

    เฮเทอโรไซคลิกเอมีน (Heterocyclic Amines, HCAs)

    เฮเทอโรไซคลิกเอมีน เป็นสารทางเคมีที่จะเกิดขึ้นเมื่อปิ้ง ย่าง เผา อาหารประเภทเนื้อสัตว์และเนื้อปลาจนไหม้เกรียม ด้วยอุณหภูมิสูง สารนี้ไม่เพียงแต่มีในเนื้อแปรรูปเท่านั้น ยังพบได้ในอาหารแปรรูปอื่นๆ ด้วย เช่น ไส้กรอก เบคอน และเนื้อเบอร์เกอร์ ซึ่งสารนี้เป็นสารที่ทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการบริโภคสารนี้ได้ โดยการใช้อุณภูมิต่ำในการปรุงอาหาร เช่น การนึ่ง การต้ม หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อที่ไหม้เกรียม

    บริโภค อาหารแปรรูป เสี่ยงมะเร็ง ได้

    จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่บริโภคอาหารแปรรูปในระดับปานกลางมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้มากกว่าผู้ที่บริโภคอาหารแปรรูปในระดับน้อยถึงร้อยละ 20 จากงานวิจัยในปี 2018 พบว่า การบริโภคอาหารแปรรูป 50 กรัมต่อวัน หรือการบริโภคเนื้อแดง 100 กรัมต่อวัน จะช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ แต่การศึกษาล่าสุดพบว่า การบริโภคอาหารแปรรูป เพียงแค่ 25 กรัมต่อวันก็ช่วยเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้แล้ว จากข้อมูลของการศึกษาต่างๆ สรุปได้ว่า ไม่ว่าจะรับประทานอาหารแปรรูปมากน้อยขนาดไหน ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ทั้งนั้น ดังนั้นการลดหรือเลิกบริโภคอาหารแปรรูปก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ได้

    เคล็ดลับดีๆ ช่วยลดการบริโภคอาหารแปรรูป

    • คำนวณสัดส่วนในการบริโภคอาหารแปรรูป โดยการลดปริมาณการบริโภคไส้กรอก แฮม จากที่เคยรับประทานทั้งห่อ ก็ลดลงบริโภคเพียงครึ่งเดียว แล้วก็ค่อยๆ ลดปริมาณลงให้น้อยที่สุด
    • เปลี่ยนสัดส่วนในการบริโภค หากปกติคุณมีอาหารแปรรูปอยู่แล้ว ก็ควรลดสัดส่วนของอาหารแปรรูปนั้นลง แล้วอาจเปลี่ยนเป็นผัก ถั่ว หรืออาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแทน
    • ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หากคุณมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารแแปรรูปในทุกๆ วัน ก็ควรจะลดสัดส่วนลง โดยอาจจะมีวันสำหรับการไม่รับประทานอาหารแปรรูปเลย อาจจะเริ่มต้นโดย ไม่รับประทานอาหารแปรรูปเลยทั้งวัน 1 วันต่อสัปดาห์
    • เปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหาร อาหารที่ปรุงใหม่ ใช้วัตถุดิบสดใหม่ ย่อมดีกว่าอาหารแปรรูปที่มีการผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ ลองเปลี่ยนจากอาหารแปรรูปเป็นการใช้วัตถุดิบสดใหม่อย่างเช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู อาหารทะเล ในการทำอาหารเพื่อช่วยลดการบริโภคอาหารแปรรูป

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา