แพ็คสลัดใส่กล่อง ไปกินเป็นมื้อกลางวันนั้น นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างมหาศาลแล้ว ยังเป็นวิธีควบคุมน้ำหนักที่ได้ผลดีด้วย แต่การลุกขึ้นมาหั่นผักเพื่อเตรียมทำสลัดในแต่ละวันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะ ทำไปทำมาผักสลัดก็อาจจะเหี่ยวได้ ครั้นจะซื้อมากินก็อาจจะสิ้นเปลือง เพราะเมนูสลัดสมัยนี้ก็มักจะมีราคาแพง โดยเฉพาะถ้าเป็นผักออร์แกนิคด้วยล่ะก็ กินบ่อยๆ กระเป๋าอาจจะแฟบได้
โชคดีนะที่มีวิธีการดีๆ ที่ทำให้สามารถ แพ็คสลัดใส่กล่อง โดยยังคงความสดใหม่อยู่ได้หลายวัน คุณจึงสามารถจัดเตรียมแค่ครั้งเดียวในหนึ่งสัปดาห์ แล้วสามารถทะยอยนำออกมากินได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เลย ซึ่งเคล็ดลับในการแพ็คสลัดนี้ที่เรากำลังพูดถึงนี้ไม่มีกฎตายตัว คุณสามารถแต่งเติมโน่นนี่ได้ตามความคิดสร้างสรรค์ของคุณเอง และถึงแม้คุณจะแพ็คสลัดครั้งละ 5 กล่อง ก็ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องทำสลัดแบบเดียวกันทั้งหมด คุณสามารถเปลี่ยนท้อปปิ้งหรือน้ำสลัดให้แตกต่างกันได้
เลือกกล่องใส่สลัดให้เหมาะ
จุดเริ่มต้นของการแพ็คสลัดใส่กล่องให้กินได้นานๆ นั้นก็คือ การเลือกกล่องให้เหมาะกับการใช้งาน และปลอดภัยจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆด้วย ซึ่งถ้าอยากได้แบบที่ปลอดภัยจริงๆ ก็ควรเลือกแบบที่ตัวกล่องเป็นแก้ว และมีฝาพลาสติกชนิดสูญญากาศที่สามารถกันลมและกันหกเลอะเทอะได้ และที่สำคัญต้องเป็นพลาสติกชนิดที่มีไม่สาร BPA (สารก่อมะเร็งที่มักพบในภาชนะพลาสติก) รวมทั้งสามารถใช้กับเตาอบหรือเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย และเนื่องจากกล่องชนิดนี้จะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมแบนๆ จึงสามารถวางซ้อนกันได้อย่างสวยงามในตู้เย็น ซึ่งช่วยให้ประหยัดเนี้อที่ไปในตัว ข้อเสียของกล่องแก้วชนิดนี้ก็คือ อาจจะมีความหนักและมีราคาแพง ร่วมทั้งมีความเสี่ยงต่อการตกแตกด้วย
ส่วนถ้าใครอยากประหยัดเงินค่ากล่องลงมาอีกหน่อย และเพิ่มความสะดวกในการพกพามากขึ้น ก็ควรเลือกกล่องพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และมีฝากล่องที่มีสาร BMP เช่นเดียวกัน ซึ่งกล่องชนิดนี้จะมีน้ำหนักเบามาก และไม่ต้องกลัวจะตกแตกด้วย จึงช่วยให้คุณสามารถพกพากไปไหนมาไหนได้อย่างสบาย ไม่ว่าคุณจะเดินทางด้วยการนั่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไฟฟ้า หรือแม้แต่รถเมล์ นอกจากนี้ยังมีขนาดที่เหมาะกับการใช้งานคู่กับกล่องข้าวกลางวัน หรือแพ็คน้ำแข็งสำหรับเพิ่มความสดใหม่ให้ผักสลัดด้วย
เคล็ดลับการจัดวางผักสลัด
หลังจากเลือกกล่องใส่สสัดที่ถูกใจแล้ว ก็ถึงเวลาต้องจัดเรียงผักสลัดกันแล้ว และนี่คือเทคนิคดีๆ ที่ช่วยให้ผักสลัดคงความสดใหม่อยู่ได้น๊าน…นาน
1 เริ่มจากผักสีเขียวก่อน
เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ก็ควรเลือกผักที่ผ่านการล้างทำความสะอาดมาเรียบร้อยแล้ว หรือถ้าล้างเองก็ควรปล่อยให้สะเด็ดน้ำและมีความแห้งสนิทจริงๆ โดยจัดเรียงผักสีเขียวเป็นฐานให้เกินเนื้อที่ประมาณหนึ่งในสามของกล่อง (หรือประมาณ 3 ถ้วยตวง)
2 เติมผักชนิดอื่นลงไป
จากนั้นก็เติมผักสลัดชนิดอื่นๆลงไป ไม่ว่าจะเป็นแครอท แตงกวา มะเขือเทศ (ใช้มะเขือเทศเชอร์รี่จะดีที่สุด) พร้อมทั้งถั่วและผลไม้ชนิดต่างๆ นอกจากนี้ก็อาจจะมีพริกหวาน บร็อคโคลี่ ถั่วลูกไก่ (ชิกพี) ถั่วแดง ข้าวโพด ถั่วลันเตา หรือแม้แต่ผลไม้อย่างองุ่นหรือเบอร์รี่ชนิดต่างๆ ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรใช้ความชื่นชอบของคุณเป็นหลัก และควรใช้กระดาษทิชชูซับให้แห้งจริงๆ อย่าให้มีหยดน้ำติดอยู่ซักนิดเดียว ผักจะได้สดกรอบอยู่ได้นานๆ
3 เติมเนื้อสัตว์
หรืออาจจะเติมโปรตีนชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้นึ่ง ไก่อบ ไข่ต้ม รวมทั้งชีสชนิดต่างๆ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี อย่างควินัวหรือข้าวกล้อง โดยเติมส่วนผสมพวกนี้เฉพาะในกล่องสลัดสามวันแรกของสัปดาห์เท่านั้น (คือของวันจันทร์ วันอังคาร และวันพุธ) พอถึงเย็นวันพุธค่อยใส่เนื้อสัตว์ต่างๆในกล่องสลัดของวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ซึ่งควรทำแบบนี้กับอะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืชต่างๆ และผลไม้ที่มีน้ำเยอะ อย่างเช่นสัปปะรดหรือสตรอว์เบอร์รี่
4 แยกน้ำสลัดไว้ต่างหาก
อย่าเติมน้ำสลัดลงไปบนผักสลัดจนกว่าจะถึงเวลากิน ฉะนั้น จึงควรซื้อกล่องเล็กๆ ไว้สำหรับใส่น้ำสลัดโดยเฉพาะ หรือถ้าออฟฟิศมีตู้เย็น ก็ควรเก็บขวดน้ำสลัดไว้ในนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และช่วยให้คุณไม่ต้องวุ่นวายกับการพกพาน้ำสลัดไปในที่ต่างๆ
5 อุปกรณ์และวัตถุดิบ
นี่คือสิ่งที่คุณต้องเตรียมเอาไว้สำหรับการทำสลัดไว้กินห้าวัน
- ผักสีเขียวในปริมาณค่อนข้างเยอะ
- แตงกวาญี่ปุ่น 2 ลูก
- แครอทขนาดกลาง 5 ลูก
- มะเขือเทศเชอร์รี่ 1 แพ็ค
- องุ่น 1 ถุง
- เต้าหู้ 2 แพ็ค
- ถั่วลูกไก่ (ชิกพี) 1 กระป๋อง
- เมล็ดทานตะวัน
- อะโวคาโด 2 ลูก
- น้ำสลัดที่คุณชอบ 1 ขวด
[embed-health-tool-bmr]