backup og meta

ลําไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร และวิธีดูแลตัวเองที่เหมาะสม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 2 วันก่อน

    ลําไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร และวิธีดูแลตัวเองที่เหมาะสม

    ลําไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โรคลำไส้อักเสบเป็นโรคที่ทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่และไส้ตรงอักเสบ อาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้ รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง รวมไปถึงท้องเสียอย่างรุนแรง จนอ่อนเพลียและสูญเสียน้ำได้ ผู้ป่วยจึงควรดื่มน้ำให้มาก ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้อาการลำไส้อักเสบแย่ลง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เนื้อสัตว์ติดหนังและติดมัน อาหารเผ็ด

    ลําไส้อักเสบ ห้ามกินอะไร

    ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกินอาหารบางชนิดที่ส่งผลต่อสุขภาพลำไส้และระบบทางเดินอาหาร และอาจทำให้โรคลำไส้อักเสบมีอาการรุนแรงขึ้น ดังนี้

    • เนื้อสัตว์ไขมันสูง

    การกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง เช่น เนื้อหมูติดมัน ข้าวมันไก่ติดหนัง หมูกรอบ ในขณะที่อาการลำไส้อักเสบกำเริบ อาจทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถดูดซับไขมันจากเนื้อสัตว์ได้เต็มที่ นอกจากนี้ เนื้อแดงอาจมีซัลเฟต (Sulfate) ในปริมาณสูง ซัลเฟตอาจก่อให้เกิดแก๊สในร่างกายและทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่เสียหาย จนอาการลำไส้อักเสบแย่ลงได้

    • อาหารรสชาติเผ็ด

    อาหารรสชาติเผ็ดมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน ทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณเนื้อเยื่อในช่องปากและทางเดินอาหาร เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารหรือเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ระคายเคือง จนอาจส่งผลให้อาการลำไส้อักเสบแย่ลงได้

    • พืชตระกูลถั่ว

    พืชตระกูลถั่ว เช่น อัลมอนด์ ถั่วเหลือง ถั่วแระญี่ปุ่น มีเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำในปริมาณมาก หากกินมากไปอาจย่อยยาก ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ และทำให้อาการลำไส้อักเสบแย่ลงได้ อย่างไรก็ตาม พืชตระกูลถั่วมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย จึงไม่ควรหยุดกินถั่วเลย แต่อาจเลือกกินถั่วที่ปรุงสุกจนอ่อนนุ่มแล้ว

    • อาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

    การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โกโก้ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต จะกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนไหว บีบรัดตัว และทำงานเร็วขึ้น ส่งผลให้กำจัดของเสียได้ดีกว่าปกติ จึงอาจท้องเสียได้ง่าย นอกจากนี้ ความเป็นกรดของกาแฟอาจส่งผลเสียต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ และทำให้อาการลำไส้อักเสบแย่ลงได้

    • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

    การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะที่ลำไส้อักเสบอาจทำให้มีเลือดออกที่ผนังลำไส้ใหญ่ และทำให้ปริมาณจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่เสียสมดุล ทั้งยังอาจทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกายและดูดซับสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือด อักเสบ เป็นแผล หรือระคายเคือง ส่งผลให้อาการลำไส้อักเสบแย่ลงได้

    นออกจากนี้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยังอาจกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียได้ เพราะจะไปเร่งการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถดูดซึมน้ำไปใช้ได้ตามปกติ ส่งผลให้เสี่ยงท้องเสียและถ่ายอุจจาระเป็นน้ำปริมาณมาก

    อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยลำไส้อักเสบ

    อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยลำไส้อักเสบ ควรเป็นอาหารที่ช่วยไม่ให้ระบบทางเดินอาหารทำงานมากเกินไป เช่น

    • ผลไม้เส้นใยอาหารต่ำ เช่น องุ่น แตงโม มะละกอ
    • ผักปรุงสุก เช่น หน่อไม้ฝรั่ง มันฝรั่ง แตงกวา ควรงดกินผักตระกูลกะหล่ำ รวมถึงเปลือก เมล็ด และก้านผัก
    • ธัญพืชที่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวขาว ซีเรียล แป้งสาลี
    • โปรตีนไร้ไขมัน เช่น อกไก่ หมูไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้
    • อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันปลา อะโวคาโด

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคลำไส้อักเสบ

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคลำไส้อักเสบ อาจทำได้ดังนี้

    • หากอาการป่วยทำให้รู้สึกไม่อยากอาหาร ควรแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ ประมาณ 5-6 มื้อ/วัน อาจช่วยควบคุมอาการลำไส้อักเสบได้โดยที่ร่างกายยังได้รับพลังงานและสารอาหารครบถ้วน
    • เลือกอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยลำไส้อักเสบ อย่างอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำ ย่อยได้ง่าย ช่วยลดปริมาณอุจจาระและความถี่ในการถ่ายอุจจาระ
    • ดื่มน้ำเปล่าหรือของเหลวอื่น ๆ ที่ไม่มีน้ำตาล แอลกอฮอล์ และคาเฟอีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากโรคลำไส้อักเสบอาจทำให้ร่างกายสูญเสียของเหลวมากกว่าปกติ จนเกิดภาวะขาดน้ำได้
    • จัดการกับความเครียดในชีวิตประจำวัน และหากิจกรรมคลายเครียด เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา วาดรูป อาจช่วยลดความถี่และระดับความรุนแรงของโรคได้
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น น้ำอัดลม โซดา เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่จนทำให้อาการแย่ลงได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 2 วันก่อน

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา