โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน และผู้สูงอายุ โรคนี้เกิดจากการเสียดสีกันของกระดูกใต้ผิวข้อเข่า หรือผิวข้อเข่าสึกหรอ จนส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่า เดินได้ไม่ปกติ ข้อเข่าผิดรูป ใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก และอาจทำให้ทุพพลภาพได้ด้วย การรักษาโรคข้อเข่าอักเสบ นอกจากการใช้ยา การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม การออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา และเปลี่ยนท่านั่งแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินก็สำคัญไม่แพ้กัน แล้ว อาหารสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม ที่ผู้ป่วยควรกินและควรเลี่ยงเพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรงขึ้นจะมีอะไรบ้าง Hello คุณหมอ จะพาไปดูกัน
อาหารสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม
อาหารที่ควรกิน
- นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว
นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น ชีส โยเกิร์ต คือแหล่งแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น อีกทั้งในนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัวยังมีโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วย เมื่อกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าแข็งแรง อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมก็จะลดลง แต่สำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนัก แนะนำว่า ควรเลือกนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมชนิดไขมันต่ำ จะดีต่อการควบคุมน้ำหนักมากกว่า
- ผักใบเขียว
ผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง ผักโขม คะน้า ผักกาด เป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินดี ที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในผักใบเขียวยังมีสารพฤกษเคมี (Phytochemical) และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดภาวะเครียดออกซิเดชัน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลเสียต่อโรคข้อเข่าอักเสบ
- บร็อคโคลี่
ในบร็อคโคลี่มีสารประกอบที่ชื่อว่า ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสามารถชะลอการพัฒนาของโรคข้อเข่าเสื่อมได้ อีกทั้งบร็อคโคลี่ยังอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินเค และแคลเซียม ที่ช่วยให้กระดูกและข้อต่อแข็งแรงขึ้นด้วย
- น้ำมันมะกอก
งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า สารประกอบในน้ำมันมะกอกที่ชื่อว่า โอลีโอแคนธัล (Oleocanthal) ช่วยป้องกันการอักเสบได้ จึงดีต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง
- ชาเขียว
สารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่ชื่อว่า คาเทชิน (Catechins) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีในชาเชียวมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ที่ผู้เชี่ยวชาญเผยว่าอาจช่วยลดการอักเสบ และช่วยชะลอความเสื่อมของกระดูกอ่อน
- ปลาที่มีไขมันสูง
ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก และประโยชน์ข้อหนึ่งของโอเมก้า 3 ก็คือช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งส่งผลดีต่อโรคข้อเข่าเสื่อม โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมกินปลาไขมันสูงเหล่านี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
หากใครไม่สะดวกกินอาหารสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อมอย่างปลาไขมันสูง ก็สามารถบริโภคอาหารเสริมที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น น้ำมันปลา น้ำมันเมล็ดแฟล็กซ์ แทนได้
อาหารที่ควรเลี่ยง
- อาหารโซเดียมสูง
การบริโภคอาหารโซเดียมสูง เช่น เครื่องปรุงรส (เช่น เกลือ ผงชูรส น้ำปลา กะปิ) อาหารตากแห้ง (เช่น ปลาแห้ง กุ้งแห้ง หมูแดดเดียว) อาหารดอง (เช่น ผักกาดดอง ปลาร้า) ขนมคบเคี้ยว จะทำให้น้ำคั่งอยู่ในเซลล์ จนเกิดอาการบวมน้ำ ทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งส่งผลให้ข้อต่อเสียหายได้
อาหารทอด หรืออาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น โดนัท เฟรนช์ฟราย ไก่ทอด สามารถทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบมากขึ้น จนอาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแย่ลงได้ นอกจากนี้ น้ำมันที่ใช้ทอดยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีและเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย ซึ่งส่งผลเสียต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเช่นกัน
- น้ำตาล
น้ำตาล รวมถึงคาร์โบไฮเดรตชนิดน้ำตาลสูง เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมอบ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันผิดปกติได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สามารถทำให้ร่างกายยิ่งอักเสบ และทำให้ข้อเข่าที่อ่อนแออยู่แล้วยิ่งอ่อนแอลงไปอีก
หากคุณอยากเพิ่มความหวานในอาหารและเครื่องดื่ม แนะนำให้ใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติ เช่น เมเปิ้ลไซรัป น้ำผึ้ง แทนน้ำตาลทรายขาว และสารให้ความหวานแบบสังเคราะห์ เช่น แอสปาแตม (Aspartame) แต่ก็ควรเติมความหวานในอาหารแค่เล็กน้อยเท่านั้น เพราะหากมากไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน
- กรดไขมันโอเมก้า 6
แม้กรดไขมันโอเมก้า 6 (Omega 6) จะดีต่อสุขภาพ แต่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ก็แนะนำว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมควรจำกัดปริมาณในการบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 6 เช่น ไข่แดง เนื้อแดง เพราะจะยิ่งทำให้อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมแย่ลงได้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ สามารถทำให้อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมกำเริบได้ เพราะเครื่องดื่มประเภทนี้มีพิวรีน (Purine) สูง เมื่อพิวรีนสลายตัวจะกลายเป็นกรดยูริก (Uric Acid) ซึ่งไม่ดีต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง
[embed-health-tool-bmr]