backup og meta

ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ควรฉีดตัวไหนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบบ่อย

ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ควรฉีดตัวไหนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อที่พบบ่อย

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะการ ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันลดลงลงตามอายุที่มากขึ้น คนวัยสูงอายุมักมีโรคประจำตัวและป่วยได้ง่ายกว่าคนที่ยังอายุน้อย ทั้งยังอาจเสี่ยงติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคโควิด-19 โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ (โรคปอดบวม) โรคงูสวัด ได้ง่าย และอาการมักรุนแรงจนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้สูงอายุและครอบครัวจึงควรให้ความสำคัญกับการไปฉีดวัคซีนวัคซีนผู้สูงอายุต่าง ๆ ตามกำหนดหรือตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยไข้ในวัยที่ต้องใส่ใจสุขภาพเป็นพิเศษ

[embed-health-tool-bmi]

ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ ควรฉีดตัวไหนบ้าง

วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรได้รับ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ อาจมีดังนี้

วัคซีนโควิด-19 สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ ลดโอกาสในการต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตลอดจนช่วยลดอัตราการเสียชีวิตเมื่อเกิดการติดเชื้อได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด 4 ชนิด ได้แก่

    • วัคซีนสารพันธุกรรมหรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA vaccine) ที่ทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน
    • วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant viral vector vaccine) ที่ทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์จนไม่อาจแบ่งตัวได้
    • วัคซีนจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein subunit vaccine) ที่ผลิตจากการผสมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันกับโปรตีนส่วนหนึ่งจากเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2
    • วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) ที่ผลิตจากเชื้อที่ตายแล้วและไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก

โรคโควิด-19 ทำให้ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคปอด โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน จึงควรให้ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 ครั้งในระยะเวลาห่างกัน 10-12 สัปดาห์ (ควรห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์) ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน หากมีโรคประจำตัวและกังวลว่าสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ อาจปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุที่รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ ควรเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แต่หากเป็นวัคซีนเร่งด่วนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนบาดทะยัก ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะ แต่ให้ฉีดที่ตำแหน่งอื่นแทน

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่ไปยังบุคคลอื่นได้ง่าย และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงรับเชื้อไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงตามวัยและอาจมีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติและติดเชื้อได้ง่ายอยู่แล้ว เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็อาจทำให้มีอาการรุนแรง และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคหลอดลมอักเสบ โรคปอดบวม การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สูงอายุจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยอาจฉีดก่อนเข้าฤดูฝนหรือเดือนพฤษภาคม หรือฉีดก่อนเข้าฤดูหนาวหรือเดือนตุลาคม ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1 เข็มสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เพียง 1 ปี และเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดหนักมักเปลี่ยนสายพันธุ์ทุกปี จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

  • วัคซีนปอดอักเสบ (Invasive pneumococcal disease หรือ IPD)

วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือที่มักเรียกว่า โรคปอดบวม ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ที่มีมากกว่า 90 สายพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยวัคซีนปอดอักเสบสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้ในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่

    • วัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ 23 สายพันธุ์ (Polysaccharide vaccine หรือ PPSV23) ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอีที่เป็นสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบทั้งหมด 23 สายพันธุ์
    • วัคซีนชนิดคอนจูเกต 13 สายพันธุ์ (Conjugate vaccine หรือ PCV13) ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอีที่เป็นสาเหตุหลักของโรคปอดอักเสบทั้งหมด 13 สายพันธุ์

สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนปอดอักเสบทั้ง 2 ชนิด ผู้สูงอายุอาจฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็ม ตามด้วยชนิด 23 สายพันธุ์ 1 เข็ม ห่างกัน 1 ปี เพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดการความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ

  • วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap)

ผู้สูงอายุควรฉีดวัคซีนชนิดนี้เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก โรคคอตีบ และโรคไอกรน ได้เพียงพอ โดยโรคบาดทะยักและโรคคอตีบเป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุอย่างมาก เพราะหากผู้สูงอายุเป็นแผลก็อาจเป็นโรคบาดทะยักได้ง่าย ส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็งและหายใจลำบาก จนอาจถึงแก่ชีวิต และหากติดเชื้อคอตีบก็อาจทำให้หายใจลำบากและเสี่ยงเสียชีวิตได้เช่นกัน ในขณะที่โรคไอกรนจะทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีอาการไอเรื้อรัง

ปัจจุบันวัคซีนโรคบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ใช้ฉีดให้กับเด็กไทย แต่สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรนมาก่อน ควรรับวัคซีนชนิดนี้ 1 เข็ม และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-คอตีบ (Td) เป็นเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี

  • วัคซีนงูสวัด (Zoster vaccine)

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด (Shingles/Herpes Zoster) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคงูสวัดจะทำให้เกิดผื่นแดงที่จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวยาวตามแนวเส้นประสาท จากนั้นตุ่มน้ำใสจะกลายเป็นตุ่มเหลืองที่แตกออกแล้วตกสะเก็ด อาจทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง และอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก

โรคงูสวัดมักเกิดกับผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ทั้งยังอาจติดเชื้อได้จากการหายใจรับเชื้อและสัมผัสกับตุ่มน้ำโดยตรง สำหรับผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคแล้วไวรัสชนิดนี้จะยังแฝงตัวอยู่ในร่างกาย หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนและปล่อยเชื้อออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้นประสาท โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ สามารถป้องกันโรคงูสวัดและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วัคซีนงูสวัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดได้ตลอดชีวิต ทั้งนี้แนะนำให้ปรึกษาแพทย์สำหรับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม

ผลข้างเคียงจากการ ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการ ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ อาจมีดังนี้

  • มีอาการปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • มีไข้
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย คลื่นไส้

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงมักไม่รุนแรงและไม่ได้เกิดกับทุกคน

การเตรียมตัวก่อนไป ฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ

การเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ อาจทำได้ดังนี้

  • ก่อนรับการฉีดวัคซีนทุกครั้ง ควรแจ้งแพทย์หรือผู้ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่แพ้ และภาวะสุขภาพของตัวเอง
  • เตรียมบัตรประชาชน หรือใบนัดหมาย (ถ้ามี) เพื่อยืนยันตัวตนในวันที่ฉีดวัคซีน
  • สวมเสื้อแขนสั้นที่สามารถถกแขนเสื้อขึ้นได้ง่าย จะได้ฉีดวัคซีนได้สะดวก และให้ผู้ให้บริการทางการแพทย์ฉีดวัคซีนที่บริเวณแขนที่ไม่ถนัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-10 ชั่วโมงก่อนไปฉีดวัคซีน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น โปรตีน ผัก ผลไม้ ธัญพืช และดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี เช่น ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่เป็นประจำ หากไม่สะดวกสามารถทำความสะอาดมือได้ด้วยเจลแอลกอฮอล์
  • หากเจ็บป่วยหรือไม่สบาย ควรรอให้หายดีก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ แล้วค่อยไปฉีดวัคซีนในภายหลัง

หลังได้รับการฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้สูงอายุควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น สวมหน้ากากอนามัย ไม่เดินทางไปในที่แออัด ทำความสะอาดสิ่งของรอบตัวและบริเวณบ้านเป็นประจำ ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ดวงตา ปาก จมูก เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่าง ๆ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ผู้สูงอายุกับวัคซีนป้องกัน COVID-19. https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2345. Accessed January 13, 2023

วัคซีนในผู้สูงอายุ. https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue034/prevent-protect. Accessed January 13, 2023

Vaccine Information for Adults. https://www.cdc.gov/vaccines/adults/rec-vac/index.html. Accessed January 13, 2023

Vaccinations and Older Adults. https://www.nia.nih.gov/health/vaccinations-older-adults. Accessed January 13, 2023

Adults Age 65 and Older. https://www.hhs.gov/immunization/who-and-when/adults/seniors/index.html. Accessed January 13, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนที่ควรฉีดช่วงโควิดระบาด ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา