backup og meta

เรื่องที่ควรรู้ก่อน การรับวัคซีนโควิด-19

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/08/2021

    เรื่องที่ควรรู้ก่อน การรับวัคซีนโควิด-19

    การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยืดเยื้อมาเป็นเวลาปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 วงการแพทย์ก็เร่งศึกษาโรคอุบัติใหม่นี้ จนสามารถสร้าง วัคซีนโควิด-19 ได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น และตอนนี้หลายประเทศก็ได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตจากโรค การฉีดวัคซีนถือเป็นวิธีลดการแพร่ระบาดของโรคที่ได้ผลที่สุดในปัจจุบัน และประเทศไทยเองก็เลือกรับมือกับโรคโควิด-19 ด้วยวิธีนี้เช่นกัน สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่า การรับวัคซีนโควิด-19 สำคัญอย่างไร และเราควรเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนอย่างไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบมาให้คุณแล้ว

    การรับวัคซีนโควิด-19 สำคัญอย่างไร

    แนวคิดเรื่องการฉีดวัคซีน มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย เป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไข้หวัดใหญ่ และในยุคนี้ก็มี วัคซีนโควิด-19 ที่คิดค้นขึ้นเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยแต่ละประเทศพยายามให้ประชาชนได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง เนื่องจากการรับวัคซีนโควิด-19 นั้นมีความสำคัญดังนี้

  • ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้น
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 2564 เผยว่า มีวัคซีนโควิด-19 แค่ 3 ยี่ห้อ คือ Pfizer Moderna และ Johnson & Johnson’s เท่านั้นที่มีผลการวิจัยยืนยันว่าอาจสามารถช่วยป้องกันการติดโรคโควิด-19 ได้)
  • อาจสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ เพราะเมื่อผู้ที่ได้รับวัคซีนมีโอกาสลดลงในการติดเชื้อโรควิด-19 โอกาสในการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นก็จะลดลงด้วยเช่นกัน
  • การเตรียมตัวก่อนเข้ารับ วัคซีนโควิด-19

    ผู้ที่จะเข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด-19 ควรเตรียมตัวดังนี้

    • ผู้ที่มีโรคประจำตัว และผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาเป็นประจำ ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนเสมอ เพราะผู้ที่เป็นโรคบางโรค หรือใช้ยาบางชนิด อาจไม่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 และหากมีข้อมูลสำคัญอื่น ๆ เช่น กำลังตั้งครรภ์อยู่ ประวัติการแพ้ยาหรือวัคซีน ก็ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนเช่นกัน
    • หากมีอาการป่วย เช่น เป็นไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไม่สบาย ภายใน 2-3 วันก่อนเข้ารับวัคซีน ควรเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีนไปก่อน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
    • ออกกำลังกายแต่พอเหมาะ โดยเฉพาะภายใน 2 วันก่อนรับวัคซีน และไม่ควรออกกำลังกายหนัก ๆ
    • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน
    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน พยายามอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
    • งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน
    • รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด-19
    • เตรียมเอกสารสำคัญให้เรียบร้อย ทั้งบัตรประชาชน และข้อมูลการลงทะเบียนจองวัคซีน

    ข้อควรปฏิบัติหลังรับวัคซีนโควิด-19

    หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แพทย์จะให้คุณนั่งพักก่อน 30 นาที ภายใต้การดูแลของพยาบาล เพื่อคอยเฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากวัคซีน เช่น ผื่นแดง อาการบวม ปวดหัว คลื่นไส้ อาการชา หากพบอาการเหล่านี้แพทย์จะได้ทำการรักษาได้ทันเวลา

    หากผ่านไปแล้ว 30 นาทีแต่ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิตอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้คุณกลับบ้านได้ หากเป็นวัคซีนชนิดที่ต้องฉีด 2 เข็ม ก็อาจนัดหมายกำหนดการฉีดเข็มที่ 2 ก่อน เมื่อมาถึงบ้านแล้ว ผู้ที่รับวัคซีนต้องเฝ้าระวังตัวเอง มองหาอาการความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากพบอาการที่รุนแรง เช่น แขนขาอ่อนแรง ไร้ความรู้สึกครึ่งซีก อาการชา ปากเบี้ยว วิงเวียน หมดสติ ควรรีบติดต่อหน่วยฉุกเฉินในทันที

    แม้วัคซีนจะมีจุดประสงค์ในการช่วยให้เราปลอดภัยจากโรคนั้น ๆ มากขึ้น แต่ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า การรับวัคซีนทุกชนิด รวมไปถึง วัคซีนโควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะต้องมีอาการข้างเคียง บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยในขณะที่บางคนมีอาการข้างเคียงรุนแรง สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะต้องคอยสังเกตอาการของตัวเอง และแจ้งให้แพทย์ทราบในทันทีเมื่อพบความผิดปกติ เพื่อจะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที และช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดการผลข้างเคียงของวัคซีน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 10/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา