backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

คันคอ อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

เขียนโดย แพทย์หญิงชิษณุภา ภิญโญยาง · หู คอ จมูก · โรงพยาบาลพิมาย


แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

คันคอ อาการ สาเหตุ วิธีรักษา

คันคอ คือ ภาวะที่เกิดความรู้สึกคันหรือระคายเคืองในลำคอ หรือรู้สึกว่าที่มีอะไรอยู่ในลำคอ อาการที่พบอาจอยู่ในระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง

คำจำกัดความ

คันคอ คืออะไร

อาการคันคอ คือ ภาวะที่เกิดความรู้สึกคันหรือระคายเคืองในลำคอ หรือรู้สึกที่มีอะไรอยู่ในลำคอ อาการที่พบมีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง อาการคันคอมักเกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณเริ่มแรกของการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสได้เช่นกัน

อาการคันคอพบได้บ่อยเพียงใด

อาการคันคอพบได้ทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จัดการได้ด้วยการลดความเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการคันคอ

บ่อยครั้งที่อาการคันคออาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามโรคหรือสาเหตุที่ทำให้คันคอ โดยอาจมีลักษณะดังต่อไปนี้

อาการคันคอจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • คันดวงตาและผิวหนัง
  • ตาบวม ตาแดง
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • รู้สึกแน่นในโพรงจมูก
  • จาม
  • อ่อนเพลีย

อาการคันคอจากการแพ้ยาหรืออาหาร อาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • คันดวงตา
  • ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอมีอาการบวม
  • มีผื่นแดงขึ้นบนร่างกาย
  • ผิวหนังรอบดวงตามีอาการแดง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • มีปัญหาในการหายใจและการกลืนอาหาร
  • รู้สึกวิตกกังวล
  • ความดันโลหิตตก
  • หมดสติ

อาการคันคอจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือการมีไข้ มักจะมีอาการร่วมที่คล้ายกัน คือ คันคอร่วมกับคัดจมูก หรือจาม ซึ่งอาการอาจรุนแรงตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยทันที

อาการคันคอจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือการมีไข้เฉียบพลัน มักเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ และมีอาการอื่น ๆ ดังนี้ร่วมด้วย

  • มีไข้
  • ต่อมในร่างกายบวม
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ร่างกายอ่อนแรง
  • ปวดศีรษะ
  • ไอ
  • คัดจมูก

อาการคันคอจากภาวะร่างกายขาดน้ำ อาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • รู้สึกหิวน้ำอย่างหนัก
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะมีสีเข้ม

อาการคันคอจากกรดไหลย้อน อาจมีอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ร่วมด้วย

  • รู้สึกเจ็บคอเวลากลืนอาหาร หรือกลืนอาหารลําบาก
  • รู้สึกแสบร้อนกลางอก
  • มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • กล่องเสียงอักเสบ
  • ฟันผุ
  • มีรสเปรี้ยวในปาก

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • มีอาการเจ็บคอรุนแรง
  • กลืนอาหารลําบาก
  • หน้าบวม
  • มีปัญหาทางด้านการหายใจ
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • มีผื่นขึ้น
  • มีไข้

สาเหตุ

สาเหตุของอาการคันคอ

อาการคันคอสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย แต่สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการคันคอ เช่น

  • โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้

สาเหตุของอาการคันคอที่พบได้ทั่วไป คือ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือที่เรียกว่า โรคไข้ละอองฟาง

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ สะเก็ด ผิวหนังของสัตว์ ฝุ่น หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยการปล่อยสารเคมีที่ชื่อว่าฮิสตามิน ซึ่งทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองที่มากเกินไป

  • ภูมิแพ้อาหาร

ภูมิแพ้อาหารเกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่รับประทานเข้าไป สามารถเกิดขึ้นได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมงหลังกินอาหารที่เป็นต้นเหตุของอาการแพ้

ภูมิแพ้อาหารในระดับเบาอาจก่อให้เกิดอาการ เช่น รู้สึกคันคอหรือคันปาก ไปจนถึงอาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อาหารที่อาจเกิดภูมิแพ้ เช่น ถั่ว อาหารทะเล ไข่ไก่ นม ข้าวสาลี

  • การแพ้ยา

อาการคันคออาจเกิดจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาเพนนิซิลิน ยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ ระดับความรุนแรงของการแพ้ยามีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับที่เป็นอันตรายถึงชีวิต

  • การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส

อาการคออักเสบหรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) อาจเริ่มต้นด้วยความรู้สึกคันคอ ก่อนจะพัฒนาไปสู่อาการเจ็บคอที่รุนแรงมากขึ้น

ส่วนการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ก็สามารถทำให้เกิดอาการคันคอได้เช่นกัน

หากเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา มักทำให้เกิดอาการคันคอหรือเจ็บคอเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ในคนไข้ที่ติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่ อาการเจ็บคอจะรุนแรงมากขึ้น ร่วมกับมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว รู้สึกแน่นหน้าอก เป็นต้น

ภาวะขาดน้ำสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากกว่าปริมาณน้ำที่ได้รับ ปกติแล้ว ภาวะขาดน้ำจะเกิดขึ้นในช่วงสภาพอากาศร้อน หลังออกกำลังกาย ตอนมีไข้ เป็นต้น

ภาวะขาดน้ำจะทำให้ปากแห้ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ช่องปากและลำคอมีน้ำลายไม่เพียงพอ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกคันในลำคอตามมา

  •  โรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนเป็นโรคที่มีกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดภาวะแสบร้อนกลางอก เจ็บคอ แสบคอ คันคอ ระคายคอ แสบปาก แสบลิ้น เป็นต้น

หากเป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่ลำคอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux หรือ LPR) หรือที่เรียกว่าโรคกรดไหลย้อนเงียบ (Silent reflux) หรือเป็นโรคกรดไหลย้อนเรื้อรัง อาจมีอาการคันคอเป็นอาการหลักของโรคได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการคันคอ

หากมีโรคหรือสภาวะดังต่อไปนี้ อาจทำให้เสี่ยงมีอาการคันคอมากขึ้น

  • โรคกรดไหลย้อน
  • ภาวะขาดน้ำ
  • โรคภูมิแพ้

นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน และผู้ที่เสี่ยงพบเจอกับมลพิษ สารเคมี และฝุ่นควัน ก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการคันคอด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการคันคอ

คุณหมอสามารถวินิจฉัยอาการคันคอได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย โดยคุณหมอจะมองหาอาการที่บ่งบอกถึงสาเหตุของอาการคันคอ เช่น อาการบวม รอยแดง สัญญาณของการอักเสบ นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ร่วมด้วย เพื่อช่วยหาสาเหตุของอาการคันคอ และรักษาที่ต้นเหตุ

การรักษาอาการคันคอ

อาการคันคอที่พบส่วนใหญ่เกิดจากโรคภูมิแพ้ คุณหมอจึงมักจะสั่งให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้แพ้ทั่วไป ร่วมกับการดูแลตัวเองที่บ้านจนกระทั่งอาการหายดี

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการคันคอ

วิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยบรรเทาอาการคันคอได้

  • กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
  • รับประทานน้ำผึ้งสด 1 ช้อนโต๊ะในตอนเช้า ควรเลือกน้ำผึ้งจากธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งใด ๆ
  • จิบชาขิงผสมน้ำมะนาวและน้ำผึ้ง
  • ผสมน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) 1 ช้อนโต๊ะกับน้ำร้อน 237 มิลลิลิตร คนให้เข้ากัน รอให้น้ำเย็นลงสักพักแล้วค่อย ๆ จิบ
  • รับประทานยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากเป็นอาการคันคอจากภูมิแพ้อาจบรรเทาอาการได้ด้วยยาพ่นคอหรือยาพ่นจมูก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

เขียนโดย

แพทย์หญิงชิษณุภา ภิญโญยาง

หู คอ จมูก · โรงพยาบาลพิมาย


แก้ไขล่าสุด 29/06/2023

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา