- บุคคลที่สูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่อาจไปทำลายระบบในร่างกายที่จะต่อสู้กับแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ
ในกรณีที่มีอาการต้องสงสัยของโรคปอดอักเสบ และสูญเสียความสามารถในการรับรสและดมกลิ่นร่วมด้วย อาจเป็นไปได้ว่า กำลังติดเชื้อโควิด-19 ควรเข้ารับการตรวจเชื้อและทำการรักษาทันที
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
การวินิจฉัย Pneumonia
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ในการวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ คุณหมอจะเริ่มสอบถามเกี่ยวกับอาการของคนไข้ ตามด้วยประวัติการเจ็บป่วย และการสูบบุหรี่ จากนั้นคุณหมอจะตรวจปอดด้วยการฟังเสียง หากเป็นโรคปอดอักเสบมักได้ยินเสียงครืดคราดเมื่อหายใจเข้า
นอกจากนี้ คุณหมออาจขอตรวจเพิ่มเพื่อยืนยันว่าคนไข้เป็นโรคปอดอักเสบ ด้วยวิธีการดังนี้
- ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
- เอกซเรย์หน้าอก เพื่อมองหาการติดเชื้อบริเวณปอด และการกระจายตัวของโรค
- วัดออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจระดับออกซิเจนในเลือด เนื่องจากหากป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ ปอดจะไม่สามารถทำหน้าที่กระจายออกซิเจนสู่กระแสเลือดได้อย่างเพียงพอ
- ตรวจเสมหะ เพื่อหาสาเหตุของการติดเชื้อว่าเป็นแบคทีเรียหรือเชื้อรา
- ตรวจของเหลวในเยื่อหุ้มปอด (Pleural Fluid Culture) เป็นอีกวิธีหนึ่งในการหาสาเหตุการติดเชื้อ โดยเจาะเอาของเหลวจากช่องเยื่อหุ้มปอดเอาออกมาตรวจวิเคราะห์
การรักษา Pneumonia
โรคปอดอักเสบรักษาได้ โดยเน้นการรักษาอาการติดเชื้อและป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยทั่วไป คุณหมอมักอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านไปพักผ่อน พร้อมกับจ่ายยารักษาโรคพื้นฐานให้ เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไอ ยาลดไข้ ซึ่งมักหายภายใน 2-3 วัน หรืออาจเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน แต่หากคนไข้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบเนื่องจากโควิด-19 คุณหมอจะรักษาด้วยยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)
อย่างไรก็ตาม คุณหมออาจให้คนไข้นอนโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว ในกรณีดังนี้
- อายุน้อยกว่า 2 ปี หรืออายุมากกว่า 65 ปี
- สมองมีอาการสับสนเกี่ยวกับเวลา สถานที่ หรือผู้คน
- การทำงานของไตอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ
- ความดันช่วงหัวใจบีบตัวต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
- ความดันช่วงหัวใจคลายตัวเท่ากับหรือต่ำกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท
- หายใจเร็วตั้งแต่ 30 ครั้งต่อนาที เพราะโดยปกติคนเราหายใจอยู่ที่ 20-26 ครั้งต่อนาที
- ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
- มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ
- อัตราการเต้นของหัวใจเต้นต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที หรือมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
การปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเอง
เพื่อลดโอกาสป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ ควรปรับพฤติกรรมดังนี้
- ล้างมือสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการล้างมือ 7 ขั้นตอนเพื่อลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
- งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้ปอดเสียหาย และในเวลาเดียวกัน เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเพราะสารนิโคตินทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากและเป็นประจำทุกวัน มีผลทำให้ระบบป้องกันโรคของปอดทำงานแย่ลง จึงควรลดปริมาณและความถี่ในการดื่มลง
- รักษาสุขภาพให้ระบบภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกกำลังกาย เลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงนอนหลับให้เพียงพอ
- ฉีดวัคซีน วัคซีนสามารถป้องกันโรคปอดอักเสบได้ในบางกรณี เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือโรคนิวโมคอคคัล (Pneumococcal Disease) อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคปอดอักเสบ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย