อาการแพ้แลคโตสมักไม่ทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงเหมือนอาการแพ้นมวัว และมีวิธีรักษาที่ต่างกัน การรักษาอาการแพ้แลคโตสอาจทำได้ด้วยการรับประทานยาเม็ดหรือหยดเอนไซม์แลคเทสก่อนมื้ออาหาร (อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคนที่แพ้แลคโตส) ลดปริมาณการบริโภคนมวัวในแต่ละครั้งให้ไม่เกิน 118 มิลลิลิตร บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ระบุบนฉลากว่าไม่มีปราศจากแลคโตสหรือแลคโตสฟรี (Lactose-free) เป็นต้น
ทางเลือกอาหารสำหรับทดแทนนมวัว
ทางเลือกอาหารสำหรับทดแทนนมวัว ที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้นมวัว อาจมีดังนี้
เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี
- นมผงจากโปรตีนถั่วเหลือง ทารกและเด็กเล็กที่มีอาการแพ้นมวัวสามารถบริโภคนมจากโปรตีนถั่วเหลืองได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
- นมผงสูตรโปรตีนย่อยละเอียด (Extensively hydrolyzed formula หรือ eHF) เป็นนมวัวที่โปรตีนในนมผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิส (Hydrolysis) คือถูกย่อยสลายจนกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก และบางส่วนกลายเป็นกรดอะมิโน ไม่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ แต่นมสูตรนี้อาจไม่เหมาะกับเด็กที่เคยมีอาการแพ้รุนแรงมาก่อน
- นมผงสูตรโปรตีนจากข้าว เป็นนมสำหรับทารกที่ทำจากโปรตีนเข้มข้นจากข้าวที่ถูกย่อยจนละเอียด และเสริมด้วยกรดอะมิโน เช่น ไลซีน (Lysine) ทรีโอนีน (Threonine)
- นมผงสูตรกรดอะมิโน เป็นนมสำหรับทารกที่ทำจากกรดอะมิโน เหมาะสำหรับเด็กที่บริโภคนมผงสูตรอื่นแล้วยังมีการเจริญเติบโตช้าหรือยังแสดงอาการแพ้
เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป
สามารถบริโภคนมถั่วเหลืองเป็นอาหารทดแทนนมวัวได้เลย และอาจเลือกนมทางเลือกชนิดอื่น ๆ เช่น นมข้าว นมข้าวโอ๊ต นมพิสตาชิโอ นมอัลมอนด์ นมวอลนัต ที่มีแคลเซียมประมาณ 120 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมในปริมาณใกล้เคียงกับแคลเซียมจากนมวัว
การรักษาอาการแพ้นมวัว
การรักษาอาการแพ้นมวัวสามารถทำได้เพียงวิธีเดียว คือ หลีกเลี่ยงการบริโภคนมวัวและโปรตีนจากนมวัว ซึ่งอาจปฏิบัติได้ค่อนข้างยากสำหรับบางคน เนื่องจากนมเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิด ระดับความรุนแรงของอาการแพ้นมวัวในแต่ละคนจะแตกต่างกันไป หลายคนยังสามารถบริโภคนมวัวได้โดยไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เมื่อนำไปประกอบอาหาร เช่น ขนมปัง หรือแปรรูปเป็นอาหารบางชนิด เช่น โยเกิร์ต ชีส
ทั้งนี้ ให้หมั่นสังเกตอาการของตัวเองว่าสามารถบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของนมวัวชนิดใดได้บ้าง แล้วเลือกบริโภคแต่พอเหมาะ ไม่ควรบริโภคอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้นมวัวในระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรง สิ่งสำคัญคือ ต้องอ่านข้อมูลโภชนาการและส่วนประกอบบนฉลากอาหารทุกครั้งก่อนซื้อมาบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารที่ระบุว่ามีนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น เนย บัตเตอร์มิลค์ ครีม นมเปรี้ยว เนยใส ชีส โยเกิร์ต ของแข็งในนม (Milk solid) เวย์ (Whey) เคซีน (casein) เคซิเนต (Caseinates) ผงโปรตีน (Protein powders) คัสตาร์ด เป็นส่วนประกอบ
หากพบผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวรุนแรง ควรรีบพาไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด พยายามอย่าให้ผู้ป่วยขยับตัวหรือเปลี่ยนท่าทางแบบฉับพลัน เพราะหากขณะนั้นมีภาวะความดันโลหิตต่ำอาจทำให้หมดสติได้ โดยทั่วไปคุณหมอจะรักษาภาวะนี้ด้วยการฉีดอะดรีนาลีน (Adrenaline หรือ Epinephrine) และดูแลตามอาการของผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้นมวัวควรพกยาอะดรีนาลีนหรืออีพิเพ็น (Epipen) ติดตัวไว้เสมอ เพื่อใช้รักษาปฐมพยาบาลหากอาการแพ้กำเริบ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย