backup og meta

นมแพะ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    นมแพะ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    นมแพะ เป็นผลิตภัณฑ์นมทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ในประเทศไทยเองมีนมแพะยี่ห้อต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น เพราะสามารถย่อยได้ง่ายกว่านมวัว และโอกาสแพ้ค่อนข้างน้อย นมแพะอุดมไปด้วยคุณค่าทางสารอาหารต่าง ๆ ทั้งแคลเซียม โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ดีต่อสุขภาพกระดูกและฟัน โดยนมแพะอาจช่วยควบคุมน้ำหนัก บำรุงผิวพรรณ และลดระดับคอเลสเตอรอลได้

    คุณค่าทางโภชนาการของ นมแพะ

    นมแพะ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 69 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 4.45 กรัม
    • ไขมัน 4.14 กรัม
    • โปรตีน 3.56 กรัม
    • โพแทสเซียม 204 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 134 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 111 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 50 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม
    • วิตามินซี 1.3 มิลลิกรัม
    • ซีลีเนียม (Selenium) 4 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ นมแพะ ยังอุดมไปด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค

    ประโยชน์ของนมแพะต่อสุขภาพ

    นมแพะ ประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพของนมแพะ ดังนี้

    1. อาจช่วยเสริมสร้างกระดูก

    นมแพะอุดมไปด้วยแคลเซียม แมกซีเนียม และฟอสฟอรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน รวมถึงภาวะกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร การบริโภคนมแพะจึงอาจช่วยป้องกันภาวะกระดูกเสื่อมและลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนได้

    ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการทดสอบประสิทธิภาพของนมแพะต่อการป้องกันโรคกระดูกพรุน ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  ตีพิมพ์ในวารสาร Voprosy Pitaniia ปี พ.ศ. 2557 ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่ป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จำนวน 42 รายออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนเพียงอย่างเดียว ขณะที่กลุ่มสอง ให้ดื่มนมแพะยี่ห้ออะมัลเทียร์ (Amalthea) วันละ 400 กรัม ร่วมกับการบำบัดเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน เป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่า อาการเสื่อมสภาพของกระดูกในกลุ่มที่ได้รับการบำบัดร่วมกับดื่มนมแพะนั้นดีขึ้น

    สรุปได้ว่า การดื่มนมแพะ อาจมีส่วนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน  ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้ เนื่องจากแร่ธาตุต่าง ๆ ในน้ำนม

  • อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

  • นมแพะมีกรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันในร่างกาย ปรับระดับน้ำในเลือด และคงมวลร่างกายไม่ให้สูงเกินไป ดังนั้น การบริโภคนมแพะ จึงอาจช่วยควบคุมน้ำหนักไม่ให้สูงเกินไปได้

    การศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคนมแพะเพื่อป้องกันโรคอ้วนในหนู เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ปี พ.ศ. 2564  โดยให้สัตว์ทดลองที่เลี้ยงด้วยอาหารไขมันสูงดื่มนมแพะ พบว่า น้ำหนักและมวลไขมันในร่างกายของสัตว์ทดลองลดลง จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคนมแพะ อาจช่วยลดมวลไขมันและน้ำหนักตัว รวมถึงป้องกันความเสี่ยงไขมันสะสมในตับ

    ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะในการควบคุมน้ำหนัก

    1. อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล

    นมแพะมีกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง เช่น กรดลอริก (Lauric acid) กรดไมริสติก (Myristic acid)   ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมกรดน้ำดีบริเวณลำไส้เล็ก ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลง การดื่มนมแพะจึงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้

    ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของนมแพะในการช่วยหลั่งน้ำดีและลดคอเลสเตอรอลในเลือด เผยแพร่ในวารสาร Journal of Dairy Science ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งทำการทดลองในสัตว์ทดลอง นักวิจัยพบว่า การบริโภคนมแพะ อาจช่วยกระตุ้นการหลั่งคอเลสเตอรอลจากน้ำดี ซึ่งเป็นวิธีกำจัดคอเลสเตอรอลในผนังหลอดเลือดของร่างกายแบบหนึ่ง นอกจากนี้ การบริโภคนมแพะ ยังอาจช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ด้วย

    ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของนมแพะในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย

    1. อาจช่วยบำรุงผิวพรรณ

    นมแพะมีโปรตีน กรดไขมันต่าง ๆ ซึ่งช่วยซ่อมแซมชั้นผิวหนัง และวิตามินเอ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการผลัดเซลล์ผิวหนัง การบริโภคนมแพะ จึงอาจช่วยบำรุงและเสริมสร้างสุขภาพผิวให้แข็งแรง

    ผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประโยชน์ทางชีวภาพของโปรตีนในนมต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางและแพทย์ผิวหนัง เผยแพร่ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2564 โดยทำการทดลองในหลอดทดลอง ระบุว่า สารต่าง ๆ ในนมวัว นมแกะ และนมแพะ เช่น โปรตีนเพปไทด์ (Peptide) มักนำมาใช้รักษาอาการทางผิวหนังต่าง ๆ เช่น สิว แผลเรื้อรัง เพราะอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อผิวหนังใหม่ สรุปได้ว่า โปรตีนในนมอาจมีประโยชน์ต่อการบำรุงผิวพรรณ อย่างไรก็ตาม การศึกษาชิ้นนี้มีข้อสรุปเพิ่มเติมว่า ควรมีการวิจัยและทดลองเกี่ยวกับโปรตีนในนมแต่ละชนิดในมนุษย์ต่อไปโดยไม่มีสารอาหารอื่นมาเจอปนในการทดลอง

    ข้อควรระวังในการบริโภค  นมแพะ

    ในนมแพะ มีน้ำตาลแลคโตส (Lactose) เช่นเดียวกับนมวัว ดังนั้น จึงไม่เหมาะกับผู้แพ้น้ำตาลแลคโตส เพราะอาจทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เมื่อบริโภคแลคโตสเข้าสู่ร่างกาย

    วิธีบริโภคน้ำนมแพะให้ปลอดภัยและได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ เลือกดื่มนมแพะที่ผ่านการพาสเจอไรซ์แล้ว เพราะความร้อนจะทำให้เชื้อโรคถูกทำลาย

    การบริโภคนมแพะสด ๆ ที่ยังไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ อาจทำให้ไม่สบาย เนื่องจากแบคทีเรีย แคมไพโลแบคเตอร์ เจจูไน (Campylobacter Jejuni)  หรือเชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) ที่เจือปนอยู่ในนมแพะ

    สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคนมแพะได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมากเกินไป และควรบริโภคอาหารให้หลากหลาย เพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา