backup og meta

โรคแพ้กล้วย ที่อาจไม่ใช่แค่เรื่องกล้วยๆ

โรคแพ้กล้วย ที่อาจไม่ใช่แค่เรื่องกล้วยๆ

กล้วย สุดยอดผลไม้ยอดนิยมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กล้วยเป็นผลไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายแขนง โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกิน ที่เป็นได้ทั้งวัตถุดิบในอาหารคาว และอาหารหวาน อีกทั้งการรับประทานกล้วยสุกแบบทั้งลูกก็ยังได้ทั้งความอร่อย และคุณค่าทางสารอาหารแบบเต็มเปี่ยมด้วย แต่คุณรู้หรือไม่ว่า มีใครหลายคนที่ไม่สามารถรับประทานกล้วยได้เลย เนื่องจากมีอาการของ โรคแพ้กล้วย แล้วโรคแพ้กล้วยที่ว่านี้คืออะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร มาหาคำตอบกันได้ กับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ 

โรคแพ้กล้วยคืออะไร

โรคแพ้กล้วย หรืออาการแพ้กล้วย ฟังดูแปลก แต่มีอยู่จริง โดยอาการแพ้กล้วยนั้นเป็นผลมาจากโปรตีนชนิดที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ซึ่งพบในกล้วย และโปรตีนดังกล่าวยังเป็นโปรตีนชนิดเดียวกันกับที่พบในถั่ว หรือผลไม้อื่น ๆ ที่สามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งคุณอาจเคยได้ยินในชื่อ อาการแพ้ถั่ว หรือโรคแพ้แอปเปิ้ล กันมาบ้าง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง สามารถที่จะแสดงอาการออกมาเพียงแค่ไม่กี่นาทีที่รับประทนกล้วยเข้าไป ในขณะที่บางรายอาจมีอาการแพ้แค่เพียงชั่วคราว และทุเลาลงได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือครึ่งชั่วโมง

สาเหตุของอาการแพ้กล้วยมาจากอะไร

แน่นอนว่าอาการแพ้กล้วยนั้น สาเหตุหลักและสาเหตุเดียวก็คือมาจากการรับประทานกล้วย แต่ที่มากกว่าการรับประทานกล้วยนั่นก็คือ การแพ้โปรตีน หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า อาการแพ้โปรตีนลาเท็กซ์ หรือแพ้โปรตีนในน้ำยาง (Latex food syndrome) และกล้วยเป็นผลไม้ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผลไม้ที่มีโปรตีนสำหรับก่อภูมิแพ้ดังกล่าว เช่นเดียวกับ กีวี แอปเปิ้ล และอะโวคาโด ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนลาเท็กซ์ หรือแพ้โปรตีนในผลไม้ชนิดอื่น ๆ ต่างก็มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการแพ้กล้วยได้เช่นกัน

อาการของ โรคแพ้กล้วย เป็นอย่างไร

อาการแพ้สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากที่รับประทานกล้วยเข้าไป แต่กับบางรายอาจใช้เวลาสักพักจึงจะมีอาการ ซึ่งการแสดงอาการก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลด้วย อย่างไรก็ตาม อาการแพ้กล้วย มีดังต่อไปนี้

  • มีอาการคันบริเวณริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
  • เป็นลมพิษ
  • ตาบวม
  • คันที่ดวงตา
  • ตาแดง
  • มีอาการจาม และน้ำมูกไหล
  • หายใจถี่รัว
  • ปวดท้อง
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย

และสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้โปรตีนในน้ำยาง อาการแพ้กล้วยอาจทวีความรุนแรงได้มากขึ้นกว่าอาการปกติ ได้แก่

  • ลมพิษและมีอาการคัน
  • ผิวเป็นผื่นแดง
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงดังฮืดฮาด
  • คอบวม
  • เสียงแหบ
  • ความดันโลหิตลดลง
  • เกิดอาการช็อค
  • เวียนศีรษะ
  • อาเจียน
  • ท้องเสีย

การป้องกันอาการแพ้กล้วย

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ระวัง และหลีกเลี่ยงการรับประทานกล้วย รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของกล้วย และผลไม้ประเภทอื่น ๆ เช่น กีวี หรืออะโวคาโด เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีโปรตีนก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันกับที่พบในกล้วย อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะระมัดระวังได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยเข้ารับการทดสอบอาการแพ้ ตรวจหาค่าความแพ้ต่อโปรตีน เพื่อที่จะสามารถระมัดระวังและรับมือกับอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นได้ และอีกข้อสำคัญสำหรับผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ คือ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้ชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งต่อคนรอบข้างให้รับทราบถึงอาการป่วยของตนเอง เพื่อที่ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะได้สามารถรับมือได้ถูกต้องและทันเวลา

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

สามารถไปพบคุณหมอได้ในสองกรณีคือ กรณีที่หนึ่ง ไปพบคุณหมอ เพื่อเข้ารับการทดสอบอาการแพ้ เป็นการป้องกันตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ ให้สามารถที่จะหลีกเลี่ยงและดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการแพ้ชนิดนั้น ๆ และอีกหนึ่งกรณีคือ เมื่อมีอาการแพ้หลังจากรับประทานกล้วยเข้าไป โดยอาการนั้นไม่ทุเลาลง และทวีความรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจและรับการรักษาโดยทันที

Hello Health Group ม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What You Should Know About a Banana Allergy. https://www.healthline.com/health/banana-allergy. Accessed on January 9, 2020.

Banana allergy: What you need to know. https://www.medicalnewstoday.com/articles/319968.php. Accessed on January 9, 2020.

Banana – Anaphylaxis Campaign. https://www.anaphylaxis.org.uk/knowledgebase/banana-allergy/. Accessed on January 9, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Sukollaban Khamfan


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้ถุงยาง ปัญหาที่ผู้ชายและผู้หญิงไม่ควรละเลย

กล้วย มีประโยชน์ต่อเซ็กส์ของผู้ชายอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา