ควรออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 30 นาที/วัน เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ โดยเลือกออกกำลังในระดับความเข้มข้นปานกลาง เช่น ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานบ้าน ทำสวน รดน้ำต้นไม้ เดินขึ้นบันไดแทนใช้ลิฟต์ พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น เนื่องจากการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลและพลังงานส่วนเกินแล้ว ยังเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกระดูกและข้อต่อ โรคหัวใจ โรคหอบหืด สามารถปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสุขภาพได้
แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายได้รับของเหลวเพียงพอต่อความต้องการ และช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ รวมไปถึงโรคเบาหวาน ได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ เนื่องจากภาวะก่อนเบาหวานหรือโรคเบาหวาน หากเพิ่งเริ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น อีกทั้งการตรวจสุขภาพประจำปียังยังเป็นการคัดกรองสุขภาพโดยรวมที่อาจช่วยให้ทราบภาวะสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน เช่น โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง หากมีภาวะดังกล่าวจะได้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
วิธีลดน้ำตาลในเลือดโดยการใช้ยาทางการแพทย์
อินซูลินในปัจจุบันอยู่ในรูปแบบของยาฉีด ซึ่งเป็นอินซูลินสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์เสมือนกับอินซูลินที่ร่างกายผลิตขึ้นเองจากตับอ่อน จึงมีผลช่วยลดน้ำตาลในเลือดหรือช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้ โดยอาจแบ่งอินซูลินได้หลายชนิดตามการออกฤทธิ์ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความเร็วในการออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาล ได้แก่ อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว (Rapid-acting Insulin) อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้นหรือปกติ (Regular or Short-acting Insulin) อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate-acting Insulin) และอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน (Long-acting Insulin) หากจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาฉีดอินซูลิน คุณหมอจะเป็นผู้กำหนดขนาดและวิธีการใช้ ซึ่งจะต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทาน
การใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 โดยในปัจจุบันมียารักษาเบาหวานอยู่หลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลที่ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นยาที่ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน เช่น ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ยากลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์ดีพีพี-4 (Dipeptidyl-Peptidase 4 Inhibitor) หรือยาช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น กระตุ้นการนำน้ำตาลเข้าไปเผาผลาญได้เพิ่มขึ้น เช่น ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ยาไพโอกลิทาโซน (Pioglitazone) ทั้งยังมียาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น และยังมียากลุ่มที่ยับยั้งเอสจีแอลทีทู (SGLT2 Inhibitor) ที่ไต ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ โดยการเลือกใช้ยานี้ คุณหมอจะเลือกพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ที่เป็นเบาหวานแต่ละราย
หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเฉียบพลันหรือรุนแรง เช่น มีภาวะเลือดเป็นกรด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยคุณหมอจะรักษาด้วยการให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำ และต้องให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำด้วย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย