การตรวจค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด หรือ Hemoglobin A1C คือ อะไร สำคัญอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    การตรวจค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือด หรือ Hemoglobin A1C คือ อะไร สำคัญอย่างไร

    Hemoglobin A1C คือ การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในกระแสเลือด หรือที่เรียกว่าการตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (HbA1c) ซึ่งจะช่วยให้คุณหมอทราบถึงปริมาณของเม็ดเลือดแดงที่มีฮีโมโกลบินเคลือบน้ำตาลตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา สามารถใช้ในการคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน วินิจฉัยโรคเบาหวาน และช่วยให้คุณหมอและผู้ป่วยทราบถึงประสิทธิภาพของแผนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการรักษาของผู้ป่วยโรคเบาหวานในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อนำมาปรับปรุงการรักษาให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยที่สุด

    Hemoglobin A1C คือ อะไร

    การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือ Hemoglobin A1C คือ การตรวจวัดค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดที่สะสมในร่างกายตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยการเจาะเลือดจากปลายนิ้วโดยไม่ต้องอดอาหารมาก่อนล่วงหน้า ปกติแล้ว น้ำตาลกลูโคสจากอาหารที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับฮีโมโกลบินซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดง และจะคงอยู่อย่างนั้นจนกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงจะหมดอายุ ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 100-120 วัน หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าที่ร่างกายนำไปใช้ได้ ก็จะมีน้ำตาลไปจับกับฮีโมโกลบิน ยิ่งระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ปริมาณน้ำตาลที่เคลือบฮีโมโกลบินอยู่ก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

    ผู้ที่อายุมากกว่า 45 ปีหรือมีความเสี่ยงโรคเบาหวาน ควรเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C เพื่อคัดกรองโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อประเมินความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงที่ผ่านมา จะได้ช่วยให้วางแผนการรักษาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ความถี่ในการตรวจ Hemoglobin A1C ของผู้ป่วยแต่ละคนอาจแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น

    • ชนิดของโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ใช้อินซูลินในการรักษา อาจต้องเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C 3-4 ครั้ง/ปี ผู้ที่เสี่ยงเป็นภาวะก่อนเบาหวาน อาจเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C ปีละ 1 ครั้ง และผู้ที่เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรตรวจ Hemoglobin A1C ทุก ๆ 3 ปี
    • ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี อาจเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C เพียง 2 ครั้ง/ปี
    • แผนการรักษาโรคเบาหวาน หากมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษา เช่น ชนิดของยาเบาหวาน พฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกาย อาจต้องเข้ารับการตรวจ Hemoglobin A1C บ่อยขึ้น

    เมื่อไหร่ที่ควรรับการตรวจ Hemoglobin a1c

    บุคลากรทางการแพทย์จะใช้การตรวจ Hemoglobin A1C ในกรณีต่อไปนี้

    • การคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes)
    • การคัดกรองและวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
    • การตรวจสอบว่าแผนการรักษาโรคเบาหวานที่ใช้อยู่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด โดยแผนการรักษาโรคเบาหวานหลัก ๆ จะเกี่ยวข้องกับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้ยารักษา การใช้อินซูลิน การติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดเบาหวาน การปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันอย่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย

    เกณฑ์ของ Hemoglobin A1C มีอะไรบ้าง

    ผลลัพธ์ของการตรวจ Hemoglobin A1C สามารถแปลผลได้ดังต่อไปนี้

    • ระดับ A1C น้อยกว่า 5.7 mg% หมายถึง ระดับน้ำตาลสะสมปกติ
    • ระดับ A1C ตั้งแต่ 5.7-6.4 mg% หมายถึง ระดับน้ำตาลสะสมเกินเกณฑ์ หรือมีภาวะก่อนเบาหวาน
    • ระดับ A1C ตั้งแต่ 6.5 mg% ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน

    น้ำตาลสะสมในเลือด ไม่ควรเกินเท่าไหร่

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยสะสม 2-3 เดือน ไม่ควรเกิน 5.7 mg% และสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยทั่วไป ระดับน้ำตาลสะสมเป้าหมาย ( A1C target levels) ควรน้อยกว่า 7% ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

    สำหรับผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้ คุณหมออาจกำหนดน้ำตาลสะสมเป้าหมายไว้สูงกว่า 7%

    • ผู้ป่วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้ายที่คุณหมอพิจารณาจากการรักษาที่สามารถทำได้ในปัจจุบันแล้วพบว่ามีอายุคาดหวัง หรืออายุคาดเฉลี่ยจำกัด (Limited life expectancy)
    • ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) อย่างรุนแรงเป็นประจำ หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำโดยไม่รู้ตัว (Hypoglycemia unawareness)
    • ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเบาหวาน เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท

    นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตั้งครรภ์ควบคุมระดับ Hemoglobin A1C ไม่ให้เกิน 6.5 mg% ตลอดการตั้งครรภ์เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสุขภาพที่อาจเกิดกับทารกและป้องกันการเกิดภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกคลอดออกมามีน้ำหนักตั้งแต่ 4,000 กรัมขึ้นไป

    หากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับ Hemoglobin A1C สูงเป็นเวลานานหลายปี อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน เช่น

    • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy)
    • โรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน (Diabetic neuropathy) หรือที่เรียกว่า โรคเบาหวานขึ้นตา
    • โรคไต (Nephropathy)
    • โรคกระเพาะอาหารบีบตัวช้า (Gastroparesis หรือ GP)
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด

    การต้องดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อควบคุมระดับ Hemoglobin a1c ไม่ให้เกิน 7% จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะสามารถช่วยให้ดูแลโรคเบาหวานและป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคนี้ได้ดีขึ้น

    วิธีทำให้น้ำตาลสะสมลด ทำได้อย่างไรบ้าง

    วิธีทำให้น้ำตาลสะสมลดลงแบบดีต่อสุขภาพ อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและหลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารจำเป็นครบถ้วน เลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเป็นอาหารหลัก เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชเต็มเมล็ด และรับประทานผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น แอปเปิล แก้วมังกร ส้ม สตรอว์เบอร์รี องุ่น หลังมื้ออาหารหรือเป็นอาหารว่าง แทนการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงอย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม เบเกอรี ของทอด อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยควรรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ
    • ปฏิบัติตามแผนการรักษาและคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเพื่อประเมินประสิทธิภาพของแผนการรักษาเป็นประจำ รับประทานยารักษาเบาหวานตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยาด้วยตัวเอง
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลางอย่างวิ่งเร็ว ว่ายน้ำ แอโรบิกในน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 30 นาที/วัน สัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อช่วยให้ร่างกายนำกลูโคสไปใช้ได้ดีและช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ผู้ป่วยอาจปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อให้ทราบถึงวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตัวเองมากที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/03/2023

    โฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    โฆษณา
    โฆษณา
    โฆษณา