backup og meta

อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ
อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด แบบไหนที่ควรไปพบคุณหมอ

อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด อาจมีตั้งแต่ภาวะตกเลือดหลังคลอด ภาวะมดลูกอักเสบ ภาวะเต้านมอักเสบช่วงให้นม ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปอาการผิดปกติไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือพบในคุณแม่หลังคลอดทุกคน จึงไม่ควรเป็นกังวลเกินไปนัก เน้นและทำใจให้สบายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันคลอดที่ใกล้มาถึง และควรวางแผนการดูแลสุขภาพหลังคลอดไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด ซึ่งอาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจและผ่านช่วงเวลาหลังคลอดไปได้ด้วยดี

[embed-health-tool-due-date]

อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด

อาการผิดปกติที่คุณแม่หลังคลอดอาจพบได้ในบางครั้ง อาจมีดังนี้

ภาวะตกเลือดหลังคลอด (Postpartum haemorrhage)

หลังคลอดคุณแม่อาจสังเกตว่ามีเลือดออกทางช่องคลอดหรือที่เรียกว่าน้ำคาวปลา (Lochia) ซึ่งจะไหลออกมาจากภายในโพรงมดลูกส่วนที่เคยมีครรภ์ยึดเกาะอยู่เป็นปริมาณมากที่สุดในช่วงหลังคลอด และจะค่อยๆ น้อยลงเรื่อย ๆ โดยสีของเลือดจะเปลี่ยนจากสีแดงสดเป็นสีน้ำตาลจนเป็นสีเหลืองภายใน 2-3 สัปดาห์ และจะมีปริมาณน้อยลงและกลายเป็นสีใสจนแห้งไปในที่สุดภายใน 4-6 สัปดาห์

ทั้งนี้ หากเวลาผ่านไปสักระยะแล้วพบว่าเลือดออกเยอะขึ้นแทนที่จะลดน้อยลง หรือมีก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดขนาดใหญ่ออกมาจากช่องคลอด ร่วมกับมีอาการอื่นๆ เช่น

  • วิงเวียนศีรษะ
  • สายตาพร่ามัว
  • รู้สึกจะเป็นลม
  • ปวดท้องรุนแรง

หากมีอาการดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณของภาวะตกเลือดหลังคลอดที่ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว

ภาวะมดลูกอักเสบหลังคลอด (Postpartum Endometritis)

เป็นภาวะผิดปกติหลังคลอดบุตรซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูกหรือระบบสืบพันธุ์ส่วนบน เช่น สเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี (group B streptococci) สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus) ซึ่งอาจเป็นแบคทีเรียที่อยู่ในมดลูกอยู่แล้วหรือเพิ่งเข้าสู่ร่างกายขณะคลอดบุตรก็ได้ โดยปกติแล้ว แบคทีเรียจะขึ้นมาจากอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนล่างหรือทางเดินอาหารและจะเข้าไปในโพรงเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างการคลอดจนทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยทั่วไปจะวินิจฉัยพบตั้งแต่ 10 วันหลังคลอด แต่ก็อาจพบได้ภายในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด

ผู้ที่เป็นมดลูกอักเสบอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • หนาวสั่น
  • ปวดหน่วงท้อง
  • ท้องบวม
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บบริเวณอวัยวะเพศขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • ตกขาวผิดปกติและมีกลิ่นเหม็นหรือมีเลือดปน

นอกจากนี้ การติดเชื้อแบคทีเรียยังอาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อหลังคลอดบริเวณอื่นได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อของแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง การติดเชื้อบริเวณแผลฝีเย็บ ฝีที่รังไข่

ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis)

ภาวะอักเสบบริเวณเต้านมมักพบในคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร อาจเกิดได้จากท่อน้ำนมอุดตันหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ให้นมจากเต้าไปเรื่อย ๆ หลายครั้งต่อวัน เพื่อระบายน้ำนมออกและลดการอุดตัน และควรอาบน้ำอุ่นและนวดเต้าด้วยตัวเองเพื่อบรรเทาอาการคัดตึงเต้านม โดยอาการที่พบอาจมีดังนี้

  • เต้านมบวม แดง สัมผัสแล้วเจ็บ
  • มีก้อนที่เต้านม เต้านมแข็ง
  • รู้สึกเจ็บหรือแสบร้อนเต้านมเป็นช่วง ๆ หรือเจ็บเต้าระหว่างให้นม
  • มีไข้ 38.3 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  •  หนาวสั่น

 ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression)

คุณแม่หลังคลอดบางท่านอาจประสบกับภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดหรือเบบี้บลูส์ (Postpartum blues หรือ Baby blues) ที่มักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดและมักหายเองได้ อาการอาจมีตั้งแต่อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ร้องไห้ วิตกกังวล แต่หากมีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงขึ้นอย่างโรคซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งคุณแม่จะมีอาการที่นานกว่าและรุนแรงกว่าอาการเบบี้บลูส์ อาการที่พบอาจมีดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวนรุนแรงหรือซึมเศร้าอย่างหนัก
  • ร้องไห้อย่างหนัก
  • ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับเด็กที่เพิ่งเกิดมา
  •  เอาตัวออกห่างจากครอบครัวและเพื่อน
  • ไม่อยากอาหาร หรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ
  • นอนไม่หลับ ใช้เวลานานกว่าปกติกว่าจะหลับ
  • ไม่มีแรง เหนื่อยล้า
  • กังวลว่าตัวเองไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้
  • รู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีค่า อับอาย
  • หงุดหงิด โกรธ อารมณ์ไม่ดีอย่างมาก
  • หมดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
  • ตัดสินใจได้ไม่เด็ดขาด ไม่มีสมาธิ จดจ่อไม่ได้
  • คิดทำร้ายตัวเองหรือเด็ก
  • วิตกกังวลหรือมีอาการแพนิคอย่างรุนแรง
  • คิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือความตาย

คุณแม่ที่มีปัญหาดังที่กล่าวมา ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาให้หายโดยเร็ว เพราะภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจนำไปสู่ภาวะโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis) ซึ่งทำให้คุณแม่มีความผิดปกติด้านความคิดและพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และเด็กได้

อาการผิดปกติหลังคลอด ป้องกันได้หรือไม่

ในช่วงก่อนคลอดสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงของอาการผิดปกติคือการดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่และสูดดมควันบุหรี่มือสอง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาการ ผิด ปกติ หลัง คลอด แบบไหนที่ควรหาหมอ

หากพบว่ามีอาการผิดปกติหลังคลอดในลักษณะต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างตรงจุด

  • มีเลือดออกทางช่องคลอดที่มาเยอะจนชุ่มผ้าอนามัยภายใน 1 ชั่วโมง หรือมีลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่กว่าลูกกอล์ฟ
  • น้ำคาวปลาไม่ลดปริมาณลงและมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไ
  • แผลผ่าคลอดไม่หายหรือสมานตัวแม้จะผ่านไปสักระยะแล้วก็ตาม
  • อาการบวมหรือแดงที่สัมผัสแล้วเจ็บที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
  • น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส
  • เจ็บหน้าอก หายใจติดขัดหรือหายใจถี่ ชัก
  • อาเจียน
  • ปวดศีรษะ สายตาพร่ามัว ที่รับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น
  • อาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวลหลังคลอดไม่หายไปหลังผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเลี้ยงดูเด็ก
  • รู้สึกอยากทำร้ายตัวเองหรือเด็ก

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Postpartum complications: What you need to know. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/labor-and-delivery/in-depth/postpartum-complications/art-20446702#:~:text=Common%20postpartum%20complications&text=Infection%20or%20sepsis,rest%20of%20your%20body%20(cardiomyopathy).  Accessed June 24, 2023

Complications after the Birth. https://www.nbt.nhs.uk/maternity-services/after-birth/complications-after-birth/. Accessed June 24, 2023

Labour complications. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/labour-complications/. Accessed June 24, 2023

Your body after the birth. https://www.nhs.uk/pregnancy/labour-and-birth/after-the-birth/your-body/. Accessed June 24, 2023

What Is Postpartum Endometritis?. https://www.webmd.com/baby/what-is-postpartum-endometritis. Accessed June 24, 2023

Postpartum depression. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/postpartum-depression/symptoms-causes/syc-20376617/. Accessed June 24, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/07/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิธีนวดเต้าหลังคลอด เพื่อลดอาการคัดตึงเต้านม

มดลูกเข้าอู่กี่วัน และควรดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา