backup og meta

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จากการเจริญเติบโตของทารกในท้อง รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น ท้องลูกแฝด ปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงปัญหาสุขภาพ เช่น ทารกตัวโตหรือเล็กกว่าปกติ โรคอ้วน ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก้อนเนื้องอกมดลูก ที่อาจต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอ

[embed-health-tool-due-date]

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน บอกอะไรได้บ้าง

ขนาดหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยและอาจบอกถึงความเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ หรือปัญหาขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนี้

  • ส่วนสูงของคุณแม่ตั้งครรภ์ สรีระร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่เหมือนกัน ทำให้พื้นที่ในการเจริญเติบโตของทารกแตกต่างกัน โดยเฉพาะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ตัวสูงก็จะมีพื้นที่สำหรับการเจริญเติบโตของทารกมากขึ้น หน้าท้องของคุณแม่จึงอาจมีลักษณะยาวไม่ดันออกด้านอก ส่วนคุณแม่ที่ตัวเตี้ยอาจมีพื้นที่ระหว่างสะโพกกับซี่โครงส่วนล่างน้อย จึงทำให้หน้าถูกดันออกไปด้านข้างมากกว่า ขนาดท้องจึงอาจดูใหญ่กว่า
  • ท่าทางของคุณแม่ตั้งครรภ์ บางท่าทางของคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น นั่งหลังค่อม เดิมก้มหลัง อาจทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายออกและทำให้หน้าท้องมีโอกาสขยายออกเพิ่มขึ้น
  • การเจริญเติบโตและตำแหน่งของทารกในครรภ์ ขนาดและน้ำหนักตัวของทารกจะเพิ่มขึ้นตามอายุครรภ์ ซึ่งอาจถ่วงให้หน้าท้องต่ำลงและดูมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกเริ่มกลับหัวและเปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกราน ก็อาจทำให้ขนาดท้องลดลงเล็กน้อย
  • การตั้งครรภ์ลูกแฝด การอุ้มท้องที่มีทารกมากกว่า 1 คน อาจทำให้กล้ามเนื้อช่องท้องยืดออก ซึ่งทำให้หน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • ปริมาณน้ำคร่ำ ปริมาณน้ำคร่ำที่มากเกินไปอาจทำให้ขนาดหน้าท้องใหญ่ขึ้นได้ เพราะตามปกติน้ำคร่ำจะมีปริมาณ 1 ลิตร หากเกินกว่านั้นอาจทำให้หน้าท้องใหญ่ขึ้น ในบางกรณี หากมีคุณแม่มีน้ำคร่ำมากอาจต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา เพราะอาจทำให้คุณแม่มีอาการแน่นหน้าอก แน่นท้อง หรือหายใจไม่ออกได้
  • ขนาดตัวของทารกใหญ่กว่าปกติ ทั้งขนาดตัวทารกที่ใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตแต่ละเดือน หรือขนาดตัวทารกที่ใหญ่กว่าปกติเพราะปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคอ้วน ภาวะบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวใหญ่กว่าปกติ จนหน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
  • น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เกินมาตรฐาน โดยเฉพาะคุณแม่ที่เป็นโรคอ้วนจากการรับประทานอาหารมากเกินไปในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากจะทำให้น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์แล้ว ไขมันที่สะสมในร่างกายและหน้าท้องยังอาจทำให้หน้าท้องมีขนาดใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของ ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือน

ขนาดหน้าท้องแต่ละเดือนตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนไปแปลงเกิดขึ้น ดังนี้

เดือนที่ 1

ไข่และอสุจิปฏิสนธิจนฝังตัวที่ผนังโพรงมดลูกแล้ว แต่ขนาดหน้าท้องในเดือนนี้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจนนูนออกมา

เดือนที่ 2

มดลูกและตัวอ่อนในครรภ์ยังคงพัฒนาต่อไป แต่ยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้อง

เดือนที่ 3

ในช่วงเดือนนี้มดลูกและตัวอ่อนมีการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ แต่อาจยังไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้อง แต่หากเป็นคุณแม่ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาก่อนหรือตั้งครรภ์ลูกแฝดในเดือนนี้ ก็อาจสังเกตเห็นถึงหน้าท้องที่นูนขึ้นมาเล็กน้อย เนื่องจากน้ำหนักของทารกในครรภ์และกล้ามเนื้อช่องท้องอาจไม่ได้แข็งแรงเหมือนกับท้องแรก

เดือนที่ 4

เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตได้ว่าหน้าท้องเริ่มขยายขึ้นอย่างชัดเจน อาจสังเกตเห็นก้อนนูนขนาดเล็กที่บริเวณยอดหัวหน่าว โดยเฉพาะในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่รูปร่างเล็กผอมจะสังเกตเห็นการขยายตัวของหน้าท้องได้ชัดเจนขึ้น

เดือนที่ 5

การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อาจทำให้หน้าท้องของคุณแม่ขยายออกอย่างชัดเจน โดยขนาดหน้าท้องจะนูนขึ้นสูงถึงประมาณบริเวณสะดือ จนสามารถสังเกตได้ว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่

เดือนที่ 6

สำหรับเดือนนี้หน้าท้องของคุณแม่จะใหญ่ขึ้นมาก หน้าท้องของคุณแม่บางคนอาจยื่นออกมาและสะดือก็อาจยื่นออกมาด้วย นอกจากนี้ คุณแม่บางคนอาจมีรอยแตกลายบริเวณหน้าท้องเกิดขึ้นด้วย

เดือนที่ 7

เป็นช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกในท้องจึงมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น รวมทั้งมดลูกก็จะขยายตัวมากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในท้อง ทำให้ขนาดหน้าท้องของคุณแม่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ คุณแม่อาจเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและเมื่อยล้ามากขึ้น เพราะการรับน้ำหนักทารกในครรภ์

เดือนที่ 8

ขนาดหน้าท้องในเดือนนี้จะใหญ่มากทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวลำบากขึ้น เช่น ลุกนั่งลำบาก เดินได้ช้าลง รวมถึงอาจรู้สึกอึดอัดมาก นอนหลับไม่ค่อยสบายเพราะการรับน้ำหนักของท้อง และอาจปวดหลังมากขึ้นด้วย

เดือนที่ 9

เป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์หน้าท้องจึงใหญ่กว่าทุก ๆ เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งทารกในครรภ์เริ่มกลับหัวเปลี่ยนตำแหน่งเข้าสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอด หน้าท้องของคุณแม่จึงอาจลดระดับต่ำลงมากกว่าเดิมเล็กน้อย เพราะตำแหน่งของทารกในครรภ์เคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pregnancy: What to Know About How You’re Carrying. https://www.webmd.com/baby/pregnancy-know-how-you-are-carrying. Accessed March 27, 2023

Pregnancy weight gain: What’s healthy?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/pregnancy-weight-gain/art-20044360. Accessed March 27, 2023

Pregnancy Weight Gain. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/pregnancy-weight-gain/. Accessed March 27, 2023

Uterus Size During Pregnancy. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-health-wellness/uterus-size-during-pregnancy/. Accessed March 27, 2023

How Your Fetus Grows During Pregnancy. https://www.acog.org/womens-health/faqs/how-your-fetus-grows-during-pregnancy. Accessed March 27, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/04/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กินยาคุมฉุกเฉินแล้วท้อง เกิดจากอะไร กินยาคุมฉุกเฉินยังไงให้ได้ผล

ท้อง1อาทิตย์ตรวจเจอไหม อาการคนท้องเป็นแบบไหน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา