ท้องลาย มักเกิดขึ้นกับหญิง ตั้งครรภ์ แทบทุกคน เพราะการตั้งครรภ์ทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจึงเกิดการขยายตัว กลายเป็นรอยแตกลายตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ใต้ท้องแขน หน้าอก แต่มักเกิดรอยแตกลายบริเวณหน้าท้องมากกว่าบริเวณอื่น คุณแม่ตั้งครรภ์มักกังวลว่าท้องลายแล้วจะสามารถรักษาได้หรือไม่ หรือจะป้องกันการเกิดท้องลายได้อย่างไรบ้าง
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
สาเหตุที่ทำให้ ท้องลาย จากการ ตั้งครรภ์
ท้องลาย (Stretch marks) เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังขยายตัวเร็วเกินไป เป็นเหตุให้เส้นใยยืดหยุ่น (Elastic fibers) ที่อยู่ใต้ชั้นผิวแยกออก จนเกิดเป็นรอยแตกลาย ซึ่งหนึ่งในสาเหตของท้องลายมาจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ ดังนั้น การขยายของผิวหนังอย่างรวดเร็ว สามารถทำให้เกิดรอยแตกลายบนผิวได้ โดยเฉพาะบริเวณท้องและเต้านม ที่จะมีรอยแตกลายมากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้รอยแตกลายยังสามารถปรากฏบนต้นขา ต้นแขน และก้น โดยรอยแตกลายอาจมีสีแดงหรือม่วง แต่หลังจากคลอดลูกแล้ว รอยแตกลายเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ จางเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีเทา และหากคนที่มีลักษณะผิวสีค่อนข้างสว่าง ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดรอยแตกลายสีชมพูอ่อน ส่วนผู้หญิงที่มีผิวสีเข้ม มีแนวโน้มว่าจะเกิดรอยแตกลายที่มีสีสว่างกว่าสีผิวของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารอยแตกลายจะพบได้ทั่วไป แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนจะท้องลาย นอกจากนี้รอยแตกลายยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ได้แก่
- ช่วงที่เปลี่ยนจากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น
- น้ำหนักลงหรือน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง จนทำให้กล้ามเนื้อโตเร็วเกินไป
ข้อมูลจากสมาคม the American Academy of Dermatology ชี้ว่า ประมาณ 90% ของผู้หญิงจะท้องลาย หลังจากตั้งครรภ์เป็นเวลาประมาณ 6-7 เดือน นอกจากนี้ หากแม่ของผู้หญิงท้องคนไหนเคยท้องลายขณะที่ตั้งครรภ์ ก็มีแนวโน้มว่าลูกสาวจะท้องลายเช่นกันเวลาตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นท้องลายนั้นส่งต่อผ่านทางพันธุกรรมได้ด้วย
ท้องลายจากการ ตั้งครรภ์ รักษาได้หรือไม่
อาจมีครีมหลายชนิดที่อ้างว่าสามารถรักษาท้องลายได้ หรือช่วยป้องกันอาการท้องลายได้ จริง ๆ แล้ว ท้องลายไม่สามารถป้องกันได้ อย่างไรก็ตาม ขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรหมั่นรักษาความชุ่มชื้นของผิวอยู่เสมอ ด้วยการทาโลชั่น หรือทาครีมบำรุงผิว เพราะครีมบำรุงผิวเหล่านี้อาจช่วยให้ผิวดูนุ่มขึ้น และช่วยลดอาการคันที่อาจเกิดจากการที่ผิวขยายเร็วเกินไป รวมทั้งดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอเพื่อลดอาการผิวแห้งและอาการหิวเหี่ยวย่น เพราะน้ำจะช่วยคงความชุ่มชื้นของผิวได้อีกด้วย
นอกจากนั้น อาจลองเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารสกัดจากหัวหอม รวมถึงมีส่วนผสมของ กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) อาจช่วยให้รอยแตกลายค่อย ๆ จางลงหากใช้ติดต่อกันนานกว่า 12 สัปดาห์
นอกจากนี้ ในบางราย ท้องลายจะค่อย ๆ หายไปเองหลังจากการคลอดลูก แต่ในบางราย ท้องลายก็อาจคงอยู่ถาวร วิธีการรักษาอาจทำได้ด้วยการผ่าตัดหรือศัลยกรรมอาจช่วยได้